ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง”

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.91 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ที่ระดับ 33.80 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) พลิกกลับมาอ่อนค่าลงบ้าง (แกว่งตัวในกรอบ 33.78-33.92 บาทต่อดอลลาร์) หลังเงินดอลลาร์ทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ตอบรับแนวโน้มโครงการลงทุนใน AI (Stargate Project) ของรัฐบาล Trump 2.0 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงบ้างของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินยูโร (EUR) ท่ามกลางความกังวลว่า สหภาพยุโรปอาจเสี่ยงเผชิญการขึ้นภาษีนำเข้าจากรัฐบาล Trump 2.0 ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ขณะเดียวกัน การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็มีส่วนกดดันให้เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยอ่อนค่าลงเข้าใกล้โซน 156.50 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติม หลังราคาทองคำ (XAUUSD) ย่อตัวลงบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ เดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น (Risk-On) หลังรัฐบาล Trump 2.0 ประกาศลงทุนขนานใหญ่ใน AI ในโครงการ Stargate Project หนุนให้บรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor ต่างปรับตัวขึ้นร้อนแรง อาทิ Nvidia +4.4% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงถูกกดดันบ้างจากการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ Exxon Mobil -1.7% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลนโยบายพลังงานของรัฐบาล Trump 2.0 ทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.28% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.61%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.39% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบรรดาหุ้นธีม AI/Semiconductor อาทิ ASML +2.1% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมก็สามารถปรับตัวขึ้นต่อได้ อาทิ Hermes +2.2% แม้ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่จะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปและจีนในเดือนกุมภาพันธ์ก็ตาม

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์นั้น บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.61% อีกครั้ง ท่ามกลางบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ขณะเดียวกันผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงระมัดระวังต่อท่าทีการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ขู่ที่จะเดินหน้าขึ้นภาษีนำเข้ากับสินค้าจากยุโรปและจีนในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้น้อยกว่า 2 ครั้ง ในปีนี้ อนึ่ง เราคงมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนสูง ขึ้นกับการปรับเปลี่ยนมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ซึ่งต้องติดตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 20 อย่างใกล้ชิด ทำให้เราคงคำแนะนำเดิมว่า ผู้เล่นในตลาดก็สามารถทยอยซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะที่บอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นได้ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip และไม่ไล่ราคาซื้อ เพื่อ Risk-Reward ที่น่าสนใจ)

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้าง ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) และเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนยังคงกังวลต่อแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ทำให้โดยรวมเงินดอลลาร์ปรับตัวขึ้นสู่โซน 108.2 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 107.7-108.3 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การทยอยปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ก.พ. 2025) พลิกกลับมาปรับตัวลดลง สู่โซน 2,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 อย่างใกล้ชิด พร้อมรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ในเดือนธันวาคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 6.30 น. ของเช้าวันศุกร์นี้ ตามเวลาประเทศไทย) รวมถึงรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและภาคการบริการ (Manufacturing & Services PMIs) เดือนมกราคม (ทยอยรับรู้ในช่วง 7.30 น.) เพื่อประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะรู้ผลการประชุม BOJ ในวันศุกร์นี้ด้วยเช่นกัน โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดยังคงเชื่อว่า BOJ มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมกราคมนี้ และทั้งปี อาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยได้ราว 2 ครั้ง หรือ 50bps

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท แม้ว่าเงินบาทจะทยอยอ่อนค่าลงบ้าง แต่เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทมีโอกาสทยอยแข็งค่าขึ้น หรืออย่างน้อยก็อาจแกว่งตัวในกรอบ Sideways เมื่อประเมินตามกลยุทธ์ Trend Following ตราบใดที่เงินบาทไม่ได้กลับมาอ่อนค่าลงชัดเจน เหนือโซน 34.20-34.30 บาทต่อดอลลาร์

ส่วนในช่วงระหว่างวันนี้ เรามองว่า เงินบาทก็อาจแกว่งตัวในลักษณะ Sideways ใกล้โซน 34.00 บาทต่อดอลลาร์ ไปก่อน โดยอาจผันผวนไปตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำทยอยปรับตัวลดลงต่อ ก็อาจเพิ่มแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าต่อเงินบาทได้ ทว่า เงินบาทก็อาจพอได้แรงหนุนบ้างจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทยโดยบรรดานักลงทุนต่างชาติ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง อีกทั้งผู้เล่นในตลาดก็คลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าของรัฐบาล Trump 2.0 ไปพอสมควร อย่างไรก็ดี เราขอเน้นย้ำว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล Trump 2.0 จะเป็นปัจจัยที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงิน ซึ่งเงินบาทก็เสี่ยงอ่อนค่าลงเร็วและแรง ได้ทุกเมื่อ หากมีความชัดเจนของการเดินหน้านโยบายกีดกันทางการค้า

แม้เงินบาท อาจเผชิญแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าบ้าง ก็อาจติดโซนแนวต้านแรกแถว 34.10 บาทต่อดอลลาร์ โดยมีโซนแนวต้านถัดไปช่วง 34.30 บาทต่อดอลลาร์ (ถ้าหากอ่อนค่าทะลุโซนดังกล่าว จะเปิดโอกาสกลับไปแถว 34.50 บาทต่อดอลลาร์ และสัญญาณจากกลยุทธ์ Trend-Following จะสะท้อนโอกาสเงินบาทอ่อนค่าลงได้) ขณะที่โซนแนวรับจะอยู่ในช่วง 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์ และมีโซนแนวรับถัดไปแถว 33.65 บาทต่อดอลลาร์

เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่าง Jobless Claims ที่จะทยอยรับรู้ในช่วง 20.30 น. ตามเวลาประเทศไทย รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของญี่ปุ่นในช่วงเช้าของวันศุกร์นี้

ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในช่วงปีหน้าที่จะเผชิญกับ Trump’s Uncertainty ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้

มองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-34.10 บาท/ดอลลาร์