กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม จับมือ พัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ติดยาเสพติด เน้นการบำบัดรักษาด้วยศาสตร์ ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ด้วยนวัตกรรมยาอดยาบ้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ติด สารเสพติด ในระบบบริการสาธารณสุข ร่วมกับ การใช้สมุนไพรรักษาตามอาการ ควบคู่กับ การฝึกสมาธิบำบัด SKT และการกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า ที่ผ่านมารักษามาแล้วกว่า 2,800 ราย ส่วนใหญ่ตอบสนองในการรักษาเป็นที่ น่าพอใจ
วันที่ 22 มกราคม 2568 ที่ ห้องประชุมสุวรรณพฤกษ์ ชั้น 1 อาคาร 1 กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จังหวัดนนทบุรี จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อพัฒนาการแก้ไข ฟื้นฟู ผู้เสพยาเสพติด ในภารกิจกรมคุมประพฤติ ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม โดยมี นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ พร้อมด้วยสักขีพยาน ของทั้ง 2 หน่วยงาน ร่วมลงนาม
นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือ ในครั้งนี้ เพื่อพัฒนาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ติดยาเสพติด ให้สามารถ เข้ารับการพัฒนาพฤติกรรมของผู้กระทำผิดคดียาเสพติด ที่ผ่านมา กรมฯ มีการดำเนินการร่วมบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ตั้งแต่ ปี 2565 และในปี 2567 จนถึงปัจจุบัน ได้มีการเข้าร่วมบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กับ กรมคุมประพฤติ โดยมีการร่วมบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดในกลุ่มสีเขียว จำนวน 2,832 ราย ซึ่งมีผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาต่อเนื่อง จำนวน 895 ราย ผู้ป่วยที่สิ้นสุดโปรแกรมการบำบัดรักษา จำนวน 540 ราย และผู้ที่ได้รับคำแนะนำด้านการใช้ยาสมุนไพร จำนวน 1,397 ราย ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการบำบัดรักษา มีประสิทธิผลตอบสนองในการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
สำหรับ แนวทางในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โดยใช้ตำรับยาสมุนไพรที่ช่วยในการลดอาการอยากยา และถอนพิษยาเสพติด ได้แก่ นวัตกรรมตำรับยาอดยาบ้า (ตำรับยาพัฒนา) หรือตำรับยาทำให้อดฝิ่น (ตำรับยาเดิม) ร่วมกับการใช้สมุนไพรรักษาตามอาการ ในการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด กรณีกลุ่มยาสมุนไพรล้างพิษ เช่น ยารางจืดยาย่านางแดง กลุ่มยาสมุนไพรปรับธาตุ เช่น ยาตรีผลา กลุ่มยาสมุนไพรบำรุง เช่น ยาขมิ้นชัน ยาหอมนวโกฐยาแก้ลมแก้เส้น (ลดอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย) ยาศุขไสยาศน์ (ช่วยให้นอนหลับ) ตำรับยาการุณย์โอสถ เป็นต้น นอกจากการรักษาตามองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทย ทางกรมฯ ยังได้นำศาสตร์การแพทย์ทางเลือกมาบำบัดรักษาควบคู่กัน เพื่อการฟื้นฟูและส่งเสริมสมรรถภาพร่างกายด้วยกิจกรรมบำบัด ได้แก่ สมาธิบำบัด SKT และการกดจุดสะท้อนฝ่าเท้า เป็นต้น ปัจจุบันได้มีการขยายงานบริการบำบัดยาเสพติด โดยความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตำรวจ/ทหาร กรมคุมประพฤติ (กระทรวงยุติธรรม) กรมสุขภาพจิต และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ทางด้าน พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า กรมคุมประพฤติ มีภารกิจ ในด้านการแก้ไขฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นผู้ที่ศาลมีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขเพื่อการคุมประพฤติมาใช้แทนการลงโทษจำคุก เพื่อให้ผู้กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้รับการแก้ไขฟื้นฟูเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเฉพาะในคดียาเสพติด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้น โดยกรมคุมประพฤติได้มีการนำมาตรการต่างๆมาใช้ในการปรับเปลี่ยนแก้ไข และสร้างทัศนคติ ความคิด และพฤติกรรมของผู้กระทำผิด รวมทั้งดำเนินการสงเคราะห์ด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้กระทำผิดมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยสรรพกำลัง และทรัพยากรด้านต่างๆ แบบบูรณาการ ความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การลงนามบันทึกข้อตกลงในวันนี้ เป็นการเริ่มต้นความร่วมมือ ระหว่าง กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กับ กรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม เพื่อร่วมกันช่วยแก้ปัญหายาเสพติดให้มีประสิทธิภาพ ด้วยโปรแกรมการแก้ไขฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้กระทำผิดคดียาเสพติด ในภารกิจกรมคุมประพฤติ โดยทั้งสองฝ่ายจะให้การสนับสนุน องค์ความรู้ทางวิชาการ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขฟื้นฟู ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้เสพยาเสพติดร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาผู้เสพยาเสพติด เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล สร้างความปลอดภัยต่อสังคม อีกทั้งยกระดับภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย
ด้านการแก้ไข ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการบริการทางด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสุขภาพให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล