12 หน่วยงานปักหมุด! ‘สงขลา’ น้ำประปาดื่มได้ทั้งจังหวัด

ภาคี 12 หน่วยงานทั้งส่วนกลาง-พื้นที่ ผนึกกำลังการทำงานคิกออฟพัฒนาคุณภาพน้ำประปา จ.สงขลา สู่การเป็นจังหวัดแรกทดสอบคุณภาพผ่านเกณฑ์ “ดื่มได้” ของกรมอนามัย “รมช.เดชอิศม์” หวัง อปท. ทุกแห่งร่วมหนุนงบประมาณสำรวจน้ำสะอาดให้ประชาชน ด้าน “นพ.สุเทพ” ย้ำเจตนาสานต่อมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” สู่รูปธรรม

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2568 นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU 3C น้ำประปาหมู่บ้านสะอาด” ภายในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด สู่การยกระดับเมืองสุขภาพดี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) พร้อมด้วย กรมอนามัย กรมควบคุมมลพิษ การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานภาคีเครือข่ายรวมทั้งสิ้น 12 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้นที่โรงแรมลีการ์เดนส์พลาซ่า หาดใหญ่ จ.สงขลา

สำหรับการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ดังกล่าว จะเป็นการสนับสนุนการดำเนินงานพัฒนาระบบประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้ง 141 แห่งของ จ.สงขลา เพื่อ Kick Off เป็นจังหวัดแรกที่สามารถผลิตน้ำประปาได้ตาม เกณฑ์คุณภาพน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย พ.ศ. 2563 โดยภายในงานได้มีผู้บริหารและบุคลากรจากหน่วยงานทั้ง 12 องค์กร ผู้นำชุมชน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมงานและเป็นสักขีพยานทั้งทาง on-site และ online รวมกว่า 1,000 คน .

นายเดชอิศม์ เปิดเผยว่า ยังมีคนจำนวนไม่น้อยมักเข้าใจว่าเรื่องของสุขภาพนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่จะต้องดูแลที่ปลายทางยามเจ็บป่วยเท่านั้น ซึ่งวิธีคิดเช่นนี้จะทำให้เราต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับการรักษาพยาบาล และก็คงไม่เพียงพอ ดังนั้นการดูแลสุขภาพที่ถูกต้องจึงต้องทำตั้งแต่ต้นทาง และหนึ่งในนั้นก็คือการเข้าถึงน้ำประปาที่สะอาด

นายเดชอิศม์ กล่าวว่า เพราะการใช้น้ำที่ไม่สะอาด จะส่งผลกระทบไปถึงสุขภาพของประชาชนได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของโรคติดต่อ หรือโรคไม่ติดต่อ (NCDs) และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วันนี้ได้มีการเชิญชวนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ให้มาทำงานร่วมกัน แบ่งงานกันทำ โดยจะเริ่มต้น Kick Off ที่ จ.สงขลา ก่อนเป็นที่แรก แล้วจึงต่อยอดให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศต่อไป

“ถ้าจะให้กรมอนามัยไปทดสอบคุณภาพน้ำทั่วทั้งประเทศ โดยประมาณว่ามีค่าใช้จ่ายแห่งละ 1 หมื่นบาท คงต้องใช้งบประมาณปีละ 690 ล้านบาท ซึ่งกรมอนามัยมีข้อจำกัด ผมจึงอยากขอความร่วมมือไปยัง อปท. ทุกพื้นที่ ร่วมสนับสนุนท้องถิ่นละ 1 หมื่นบาทต่อปีได้หรือไม่ แล้วกรมอนามัยจะเข้าไปทดสอบคุณภาพน้ำให้ท่านในทุกๆ 6 เดือน หมายความว่าใน 1 ปี เราจะทดสอบน้ำ 2 ครั้ง ซึ่งหากน้ำไม่ผ่านคุณภาพ ท้องถิ่นก็จะได้ปรับปรุงแก้ไข เพื่อที่ประชาชนในท้องถิ่นของท่านจะได้ไม่ต้องเจ็บป่วยอีกต่อไป” รมช.สาธารณสุข กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า จากประสบการณ์นับตั้งแต่การได้ทำหน้าที่แพทย์ จะพบมาโดยตลอดว่าประชาชนมีการเจ็บป่วยด้วยโรคตับอักเสบ โรคมะเร็ง โรคไต โรคตับ โรคอุจาระร่วง โรคทางเดินอาหาร ฯลฯ ซึ่งล้วนมีที่มาจากการบริโภคน้ำที่ไม่สะอาด ซึ่งหน่วยงาน สช. ในฐานะที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการสานพลัง เพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม ก็เคยใช้กลไกของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ในการผลักดันเรื่องนี้มาแล้ว

ทั้งนี้ ในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2559 เรื่อง “น้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน” ที่ คสช. ได้มีมติเห็นชอบและเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการตามบทบาทหน้าที่นั้น มีสาระสำคัญในการเสนอให้กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการสนับสนุน อปท.  วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบกิจการ เพื่อจัดให้ประชาชนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดยสนับสนุนงบประมาณ วิชาการ และอื่นๆ ตามบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ พร้อมยังระบุให้ อปท. จัดน้ำดื่มสาธารณะที่ปลอดภัยไว้บริการในชุมชนอย่างน้อย 1 แห่ง

สำหรับมติดังกล่าวได้นำมาสู่การขับเคลื่อนเรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยของหลายหน่วยงานเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการที่กรมอนามัย จัดทำตัวอย่างการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม จัดทำร่างมาตรฐานตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติทั่วไป หรือการที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการให้หน่วยงาน 50 เขต ตรวจสอบคุณภาพน้ำและตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน เป็นต้น

“การลงนามร่วมกันครั้งนี้จึงถือว่าเป็นความหวังที่สำคัญ ที่เราจะร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ต่อไป โดยที่ จ.สงขลา จะเป็นต้นแบบเรื่องคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด หากประเทศไทยสามารถผลักดันเรื่องน้ำให้มีคุณภาพได้ทั้งหมด ก็จะเป็นผลดีต่อทั้งเรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดย สช. มีความตั้งใจที่จะสานพลังร่วมกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ ตามนโยบายของท่าน รมช.สธ. และตามภาพที่ทุกฝ่ายอยากเห็น” นพ.สุเทพ กล่าว

ขณะที่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงประสบกับปัญหาน้ำประปาไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะน้ำประปาหมู่บ้านซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้มากที่สุด โดยข้อมูลจากกรมอนามัยในการสุ่มเฝ้าระวังคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ตั้งแต่ปี 2561 – 2567 จำนวน 10,271 แห่ง พบว่ามีเพียง 420 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.09 เท่านั้น ที่ผ่านการรับรองเป็นน้ำประปาหมู่บ้านสะอาด มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับการนำมาบริโภคในครัวเรือน ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับน้ำประปาในเขตเมือง

พญ.อัมพร กล่าวว่า ขณะเดียวกันยังมีปัญหาสำคัญ คือ การขาดความครอบคลุมในการตรวจวิเคราะห์เพื่อประเมินคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ที่มีอยู่ถึง 69,028 แห่งทั่วทั้งประเทศ สาเหตุมาจากการขาดงบประมาณในการดำเนินการ ท่าน รมช.สาธารณสุข จึงมีนโยบายที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน ให้สะอาดและปลอดภัยครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยเริ่มต้นที่ จ.สงขลา เป็นจังหวัดแรกของประเทศไทย

ด้าน นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า วาระการพัฒนาน้ำประปาหมู่บ้านให้สะอาด ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่มุ่งหวังจะบริหารจัดการน้ำสะอาดให้กับพี่น้องประชาชน สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญและจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งหมด 1.4 ล้านคนใน จ.สงขลา โดย อปท. ที่มีอยู่ 141 แห่ง จะได้เข้ามาร่วมกันพัฒนาคุณภาพน้ำประปาสะอาด ตาม MOU ในครั้งนี้ ซึ่งถือว่าทุกหน่วยงานมีเจตนาเต็มใจที่จะปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน

“ในพื้นที่จังหวัดของเราเพิ่งจะผ่านพ้นช่วงอุทกภัย และเราได้ดำเนินการดูแลพื้นที่ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานให้พี่น้องประชาชนที่ได้รับความเสียหายได้รับการฟื้นฟูโดยเร็ว ซึ่งหนึ่งในนั้นคือระบบประปาของ อปท. และจากการที่ส่วนตัวได้มีโอกาสในการเป็นผู้บริหารการประปานครหลวง ก็คงจะได้ใช้สรรพกำลังเหล่านี้มาช่วยในพื้นที่ จ.สงขลา อีกแรงหนึ่ง” นายโชตินรินทร์ กล่าว

อนึ่ง หน่วยงานภาคีเครือข่ายรวม 12 องค์กร ที่ได้ร่วมกันลงนามในครั้งนี้ ประกอบด้วย 1. กรมทรัพยากรน้ำ 2. กรมทรัพยากรน้ำบาดาล 3. กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 4. องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 5. ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา 6. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลา 7. สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสงขลา 8. กรมควบคุมมลพิษ 9. การประปาส่วนภูมิภาค 10. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 11. สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย 12 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ