กรมส่งเสริมการเกษตร แจ้งเตือนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเฝ้าระวังโรคข้าว เนื่องจากพยากรณ์อากาศในระยะนี้รายงานว่า บริเวณประเทศไทยตอนบน ยังคงมีอากาศหนาวเย็นโดยทั่วไป และมีอากาศหนาวจัดในบางช่วง ทั้งตอนบนของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลางมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ ซึ่งเหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรคของขอบใบแห้ง ซึ่งสามารถแพร่ระบาดไปกับกระแสลมได้ โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสัมพัทธ์สูงหรือมีหมอกหนา ซึ่งในปี 2565 ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม มีรายงานการระบาดในพื้นที่ตอนบนของภาคเหนือและภาคตะวันออกรวม 235 ไร่
ลักษณะอาการของโรคขอบใบแห้ง โรคนี้เป็นได้ตั้งแต่ระยะกล้าจนถึงระยะข้าวออกรวง อาการเริ่มแรกมีลักษณะช้ำที่ขอบใบล่าง และประมาณ 7 – 10 วัน จะขยายกลายเป็นทางสีเหลืองยาวตามใบข้าว ใบที่เป็นโรคจะแห้งเร็ว และสีเขียวจะจางลงเป็นสีเทา ๆ ถ้าปักดำจะแสดงอาการหลังปักดำแล้ว 1 เดือน ใบที่เป็นโรค ในส่วนของขอบใบจะมีรอยขีดช้ำเปลี่ยนเป็นสีเหลือง แผลมีหยดน้ำสีครีม (bacterial ooze) คล้ายยางสนกลม ๆ เท่าหัวเข็มหมุด ต่อมาเป็นสีน้ำตาลและหลุดไปตามลม น้ำ หรือฝน แผลจะขยายไปตามความยาวของใบ หากมีการเข้าทำลายรุนแรง ต้นข้าวจะเหี่ยวเฉา และแห้งตายทั้งต้นโดยรวดเร็ว เรียกอาการนี้ว่า ครีเสก (kresek)
การแพร่ระบาด แพร่ระบาดได้ดีในสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูง เช่น หมอกหนา ลมพัดแรง ฝนตก เป็นต้น
การป้องกันกำจัดโรคขอบใบแห้ง ควรใช้พันธุ์ข้าวที่ต้านทานต่อโรคขอบใบแห้ง เช่น สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 60 สุพรรณบุรี 90 หรือ กข 7 เป็นต้น ในดินที่อุดมสมบูรณ์แล้ว ไม่ควรใส่ปุ๋ยไนโตรเจนในปริมาณมากเกินความจำเป็น ไม่ควรระบายน้ำจากแปลงที่เป็นโรคไปสู่แปลงอื่น หากปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอต่อโรคดังกล่าว เช่น กข 6 ขาวดอกมะลิ 105 พิษณุโลก 2 ชัยนาท 1 ควรเฝ้าระวังการเกิดโรค หากเมื่อเริ่มพบอาการของโรคบนข้าว ให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ซิงค์ไทอะโซล คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ ไตรเบสิคคอปเปอร์ซัลเฟต เป็นต้น