อย. ร่วม ตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ตัดตอนขบวนการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ไลฟ์ขายออนไลน์ ตรวจยึดของกลางกว่า 127 รายการ มูลค่ากว่า 6 แสนบาท

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย รอง ผบช.ก., พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก., เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. โดยการสั่งการของ พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รรท.ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., ปฏิบัติการทลายแหล่งจัดเก็บและกระจายผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ในพื้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดของกลาง 127 รายการ จำนวน 1,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 600,000 บาท

พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม การกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และประชาชนให้ทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก “หิ้วเองจากญี่ปุ่น” ซึ่งมีการโฆษณาประกาศขายผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอางที่ไม่ได้แสดงฉลากภาษาไทยให้แก่ประชาชนโดยทั่วไป

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการตรวจสอบเพจดังกล่าว พบว่า มีการไลฟ์สด และโฆษณาจำหน่าย ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา และเครื่องสำอาง ที่มีการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง (ไม่แสดงฉลากภาษาไทย) จริง ซึ่งหากประชาชนนำไปบริโภคอาจทำให้เข้าใจผิดในส่วนประกอบ สรรพคุณ และวิธีการใช้ซึ่งเป็นสาระสำคัญในการบริโภคได้ จึงทำการสืบสวนจนทราบถึงสถานที่จับเก็บผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย

ต่อมาในวันที่ 14 มกราคม 2568 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นของศาลอาญามีนบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่ไลฟ์สด และจัดเก็บสินค้า ภายในอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ย่านแขวงคลองสามประเวศ เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ผลการตรวจพบ นายนที (สงวนนามสกุล) แสดงตัวเป็นผู้ดูแลสถานที่ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมาย ได้แก่

1.เครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง และเครื่องสำอางที่มิได้แสดงฉลากภาษาไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ผลิตภัณฑ์บำรุงริมฝีปาก แชมพู ครีมนวดผม ผลิตภัณฑ์ตกแต่งสีผม ผลิตภัณฑ์ย้อมสีผม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เป็นต้น จำนวน 26 รายการ รวม 374 ชิ้น
2. ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า และผลิตภัณฑ์ทาไล่แมลงที่มิได้แจ้งข้อเท็จจริงหรือขึ้นทะเบียน และมิได้แสดงฉลากภาษาไทย เป็นต้น จำนวน 14 รายการ รวม 112 ชิ้น
3. ยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ประเภท ยาแก้ปวด ยาระบาย ยาพ่นจมูก ยาอมแก้เจ็บคอ ยาพ่นคอ เป็นต้น จำนวน 19 รายการ รวม 355 ชิ้น
4. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบีบนตำรับ ประเภท ยาแก้ไอ แก้หวัด รักษาริดสีดวงทวารหนัก เป็นต้น จำนวน 3 รายการ รวม 42 ชิ้น
5. ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร ประเภท แยม ผลไม้อบแห้ง ขนม ชา กาแฟ เป็นต้น จำนวน 65 รายการ รวม 528 ชิ้น
รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน 127 รายการ รวมทั้งสิ้น 1,411 ชิ้น มูลค่ากว่า 600,000 บาท ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก. ปคบ. ดำเนินคดี

จากการสืบสวนพบว่า สินค้าดังกล่่าวนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น โดยนายนทีฯ จะเดินทางไปในรูปแบบนักท่องเที่ยวและซื้อสินค้ากลับมา โดยจะโฆษณาจำหน่ายในเพจเฟซบุ๊กและส่งสินค้าให้ลูกค้าตามออเดอร์ โดยทำมาแล้วประมาณ 2 ปี

โดยในการตรวจค้นในครั้งนี้ พบ “ผลิตภัณฑ์ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” หลายรายการ เช่น ยาแก้ปวด ยาพ่นจมูก ยาระบาย ฯลฯ ซึ่งการซื้อยามาใช้นั้น ผู้บริโภคควรได้รับคำแนะนำการใช้ยาจากเภสัชกร เพื่อให้การใช้ยาเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม และปลอดภัย โดยยาที่ตรวจพบไม่แสดงฉลากภาษาไทย การซื้อไปบริโภคอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ เบื้องต้นเป็นความผิดตาม
1. พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558
– ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่มิได้จดแจ้ง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
– ฐาน “ขายเครื่องสำอางที่ไม่มีฉลากภาษาไทย” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ฐาน “ขายวัตถุอันตรายที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510
– ฐาน “ขายยาโดยมิได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
– ฐาน “ขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
– ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยมิได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ ไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
– ฐาน “ขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับ” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท

เภสัชกร เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปฏิบัติการในครั้งนี้ อย. ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่สืบสวนขยายผลจนสามารถตรวจยึดอาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน ผิดกฎหมายได้จำนวนมาก ในส่วนของพี่น้องประชาชนขอย้ำเตือนว่า อาหาร ยา เครื่องสำอาง และวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือน จะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่ายโดยสามารถดูได้ที่ฉลากผลิตภัณฑ์หรือที่บรรจุภัณฑ์ ควรซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหล่งแน่นอน กรณีซื้อออนไลน์ให้ซื้อจากร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เรียบร้อยแล้ว สำหรับยาไม่สามารถซื้อทางออนไลน์ได้ ต้องซื้อจากร้านยา หรือได้รับการตรวจวินิจฉัยและจ่ายจากแพทย์ในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชนเท่านั้น ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่ www.fda.moph.go.th และ Line@FDAThai หากพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัยหรือไม่ได้รับอนุญาต สามารถ แจ้งได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th Line@FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

พ.ต.อ.พัฒนศักดิ์ บุบผาสุวรรณ รรท.ผบก.ปคบ. กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. และ อย. มีการเฝ้าระวังร่วมกันในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและไม่ได้มาตรฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค และขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์สุขภาพมาบริโภค โดยเฉพาะอาหาร และยาที่ต้องรับประทานเข้าสู่ร่างกาย ควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลาก สรรพคุณ ส่วนประกอบ ผู้ผลิตและสถานที่ผลิตที่ครบถ้วน น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ เพราะฉลากผลิตภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อสินค้ามาบริโภคหากแสดงฉลากไม่ครบถ้วนถูกต้อง อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด เมื่อนำไปบริโภคอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้ และขอเน้นย้ำกับผู้ลักลอบนำเข้าสินค้ามาจำหน่ายทั้งหลายว่าอย่านำสินค้าที่ผิดกฎหมายมาจำหน่ายโดยเด็ดขาด หากพบจะดำเนินการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด ทั้งนี้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดกฎหมายในลักษณะอื่นใด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน ปคบ.1135 หรือ เพจ ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา

“ผู้ต้องหาหรือจําเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคําพิพากษาถึงที่สุด”
“การเผยแพร่ข่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารนะ”