สช.ผนึกกำลัง กขป. ทั่วประเทศเคลื่อนงานพัฒนารองรับสังคมสูงวัย มุ่งวางทิศชี้ทาง บูรณาการร่วม-เน้นทำบนฐานข้อมูลพื้นที่เป็นหลัก

วันอังคารที่ 14 มกราคม 2568 ห้องประชุม MIDAS 2  โรงแรม MIDA Hotel Don Mueang Airport  หลักสี่  เวลา 09.30 – 14.00 น. กรุงเทพมหานคร สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมเวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” Smart Aging Society, Together we can  นำโดย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังพัฒนา นโยบายรองรับสังคมสูงวัยเพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568   นพ.สุเทพ เพชรมาก  เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร  หัวหน้าโครงการสานพลังพัฒนานโยบายรองรับ สังคมสูงวัยเพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568 และภาคีเครือข่ายกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ ร่วมระดมสมองเตรียมการจัดเวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” ระดับเขต

การที่ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรเปลี่ยนไป มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ เด็กเกิดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ กลายเป็นสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ เป็นเรื่องที่กระทบต่อสังคมทุกด้าน มิใช่แค่เรื่องกิจการผู้สูงอายุเท่านั้น ที่เรียกว่าเป็น “สังคมสูงวัย” หมายถึง สังคมที่มีการเปลี่ยนผ่านของประชากร โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเข้าเกณฑ์ตามที่กำหนด สัดส่วนเด็ก เยาวชน และวัยแรงงานลดลง ซึ่งมีผลสัมพันธ์ เกี่ยวข้องและกระทบกับทุกระบบ ทุกสาขาในสังคม ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา สุขภาพ สภาพแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี การสื่อสาร และการจัดการทุกภาคส่วน ซึ่งระบบกิจการผู้สูงอายุ เป็นส่วนหนึ่งของสังคมสูงวัย โดยเรื่องสังคมสูงวัยเกี่ยวข้อง 4 มิติ ได้แก่  1) มิติเศรษฐกิจ 2) มิติสภาพแวดล้อม 3) มิติสังคม 4) มิติสุขภาพ

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธานกรรมการบริหารโครงการสานพลังพัฒนา นโยบายรองรับสังคมสูงวัยเพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568  กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยเด็กเกิดน้อย และสูงวัยเพิ่มขึ้น ยังมีอีกกลุ่มคือสูงวัยสำรองที่อายุ 45 ขึ้นไป กลุ่มนี้มีปริมาณเยอะขึ้น ดังนั้นการรับมือเรื่องเหล่านี้จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับ นพ.อำพล กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้สำคัญมากในการชี้ทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ  ซึ่งขณะนี้ประเทศไทยมีทิศทางใหญ่ๆ คือ เรื่องสังคมสูงวัย  เรื่อง NCDs  เรื่องระบบสุขภาพท้องถิ่น ดังนั้นเขตสุขภาพเพื่อประชาชนก็เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมสูงวัย โดยการทำงานแบบพื้นที่เป็นฐานตั้ง นพ.สุเทพ กล่าว

อาจารย์กรรณิการ์ บรรเทิงจิตร  หัวหน้าโครงการสานพลังพัฒนานโยบายรองรับ สังคมสูงวัยเพื่อสุขภาวะองค์รวม พ.ศ. 2568 การประชุมระดมสมองเตรียมการจัดเวที “สานพลังไทย รับมือสังคมสูงวัย ไปด้วยกัน” ระดับเขตครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นภาพรวมการทำงานของแต่ละเขตสุขภาพในเรื่องของการเตรียมงานและการจัดกระบวนการต่างๆ ทั้งนี้มีการนำกรณีศึกษาของแต่ละเขตขึ้นมาเป็นตัวอย่างการขับเคลื่อนประเด็นสังคมสูงวัย อาจารย์กรรณิการ์ กล่าว

ซึ่งปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้สนับสนุนให้สำนักงานประสาน นโยบายรองรับสังคมสูงวัย (สป.สว.) ดำเนินการ “โครงการสานพลังเพื่อการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ รองรับสังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพภายใต้วิถีชีวิตใหม่” ภายใต้แผนงานบูรณาการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสังคมสูงวัย มีการถอดบทเรียนและสังเคราะห์องค์ความรู้การจัดทำแผนบูรณาการรองรับสังคมสูงวัยในระดับตำบลจากพื้นที่ต้นแบบ จำนวน 30 ตำบล ในพื้นที่ 8 จังหวัด เกิดเครือข่ายในพื้นที่ที่เป็นการผนึกกำลัง ความร่วมมือผ่านกลไก 3 ภาคส่วนที่เป็นแกนในพื้นที่ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบล, ท้องถิ่น ท้องที่ สภาองค์กรชุมชน และประชาสังคม โดยมีกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม ทั้งกำลังความคิดและ ทรัพยากรด้านต่างๆ ในการสนับสนุนการขับเคลื่อน สามารถผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อรองรับสังคมสูงวัย หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ ได้ผลลัพธ์เป็น “แนวทางการพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” ซึ่งพื้นที่สามารถนำแนวทางดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ เพื่อจัดทำแผนรองรับสังคมสูงวัยให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละตำบล และในปี 2566 สนับสนุนให้ดำเนินการ “โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้การพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมระดับตำบลเพื่อรองรับสังคมสูงวัย” จำนวน 10 ตำบล /10 ศูนย์เรียนรู้ ใน 4 จังหวัด จาก 4 ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ทักษะ เครื่องมือ และกลไกในพื้นที่ทั้ง 10 ตำบล ให้มี ความพร้อมเป็นศูนย์เรียนรู้รองรับสังคมสูงวัย พร้อมทั้งถอดบทเรียนองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ รองรับสังคมสูงวัย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้สำหรับการขยายผลในพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย