นางสาววราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งดำเนินงานในพื้นที่ของนายอำนาจ เอี่ยมสุภา สมาชิก ศพก. ต.สุขสำราญ อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ โดยเปรียบเทียบกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมของเกษตรกร กับกรรมวิธีการผลิตแบบเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องจักรกล และองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อการทำเกษตรแบบอัจฉริยะรวมถึงการเกษตรแม่นยำ ที่นำมาทดสอบใช้ในแปลงเรียนรู้ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคม 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 50 วัน ครอบคลุมตลอดทั้งกระบวนการผลิตพืช ซึ่งเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้ 1. ใช้ข้อมูลสถิติน้ำฝนย้อนหลัง และการคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้า ในการกำหนดวันปลูก ทำให้เมื่อปลูกไปแล้วไม่ประสบภาวะฝนทิ้งช่วง ข้าวโพดมีการเจริญเติบโตที่ดี เมื่อเทียบกับแปลงเกษตรกรที่ปลูกก่อนในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยพิจารณาจากปริมาณฝนที่ตกเพียงอย่างเดียว ทำให้ประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงหลังการปลูก ส่งผลให้การเจริญเติบโตไม่ดี ต้นแคระแกรน ฝักเล็ก และติดเมล็ดไม่ดี 2. เก็บตัวอย่างดิน เพื่อจัดทำแผนที่ความอุดมสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดิน สำหรับการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินตามความต้องการของพืช ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย และลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยที่เกินความจำเป็น 3. ปรับระดับพื้นที่ด้วย Laser land leveler และการเตรียมดินโดยใช้แทรกเตอร์ติดตั้งระบบพวงมาลัยอัตโนมัติ (auto steering) ที่ควบคุมนำร่องการเคลื่อนที่ด้วยระบบ GPS ส่งผลให้ดินได้ระดับ ลดการพังทลายของหน้าดิน เก็บสะสมน้ำ/ความชื้นในดินได้ดีกว่าไม่มีการปรับระดับ 4. เลือกใช้เมล็ดพันธุ์ที่คุณภาพดี เหมาะสมกับพื้นที่ และเตรียมเมล็ดพันธุ์ด้วยการคลุกสารป้องกันกำจัดหนอนกะทู้ข้าวโพดลายจุด ช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดและลดความสูญเสียจากการเข้าทำลายของหนอนกะทู้ข้าวโพดลายจุดในระยะต้นกล้า 5. ปลูกด้วยเครื่องปลูกข้าวโพดระบบนิวเมติก (1 เมล็ด/หลุม) ให้จำนวนต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ต่อพื้นที่ที่แม่นยำ ที่ระยะ 21 วัน หลังงอก เพิ่มขึ้นจากการปลูกแบบปกติของเกษตรกร 69 % มีจำนวน 9,374 ต้น/ไร่ ในขณะที่แปลงของเกษตรกรมีจำนวนต้นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5,545 ต้น/ไร่ 6. ใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ในการพ่นสารเคมีกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ซึ่งมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ประหยัดเวลาการพ่นสารลง 95% (จากเดิมใช้เวลาพ่น 50 นาที ลดเหลือ 3 นาที/ไร่) และประหยัดการใช้น้ำในการพ่นสารลง 95% (จากเดิมใช้น้ำ 80 ลิตร ลดเหลือ 4 ลิตร/ไร่) เมื่อเทียบกับการใช้แรงงานคนพ่นสาร นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตการสำรวจปริมาณธาตุอาหารพืช (ไนโตรเจน) ในใบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยเครื่อง CropSpec (เทคโนโลยีจากประเทศญี่ปุ่น) ทำให้ทราบปริมาณความต้องการธาตุอาหารของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อการใส่ปุ๋ยให้พอดีกับความต้องการ
“การจัดงานการสาธิตการใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ ในแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในครั้งนี้ นอกจากเกษตรกรจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาสาธิตแล้ว ยังได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ของการดำเนินการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งสามารถลดต้นทุน ลดแรงงาน และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้เกษตรกรมีความพึงพอใจ ดังนั้นกระรทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเตรียมขยายผลอีกในพื้นที่ 500 ไร่ โดยมีสมาชิกอย่างน้อย 20 ราย ในปี 2563 ตามความต้องการของเกษตรกร พร้อมกันนี้จะขับเคลื่อนในรูปแบบประชารัฐ ซึ่งมีบริษัทที่พร้อมสนับสนุน อาทิ โดรน เครื่องปรับระดับดิน Laser land leveler สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น อีกทั้งเกษตรกรพร้อมที่จะลงทุนเพื่อเป้นผู้ประกอบการ Startup เกษตรอัจฉริยะ เพื่อใช้ในกลุ่มของตัวเอง และพัฒนาสู่การเป็นผู้รับจ้างในอนาคต เพื่อสร้างรายได้และอาชีพที่มั่นคง ” นางสาววราภรณ์ กล่าว
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ในอนาคตจะสร้าง IOT platform เพื่อเสนอข้อมูลการประเมินผลจาก sensors ต่าง ๆ ในแปลงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อใช้แจ้งเตือนเกษตรกรให้สามารถเตรียมรับมือจัดการในแปลงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และที่สำคัญคือจะมีการเสนอข้อมูลจาก sensors ต่าง ๆ ที่ติดตั้งในแปลงนามาแสดงผลบนจออัจฉริยะ หรือ Dash board จอแสดงผลเพื่อแจ้งเตือน ช่วยในการจัดการในแปลง และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้นำเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะที่หลากหลาย มาผสมผสานใช้เป็นต้นแบบในแปลงเรียนรู้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีและแนวทางการทำเกษตรอัจฉริยะไปขยายผลในเกษตรแปลงใหญ่ ได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป พร้อมจะจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการข้อมูลเกษตรอัจฉริยะ หรือ War room เพื่อช่วยประมวลผลและจัดส่งข้อมูลให้เกษตรกร เพื่อช่วยในการตัดสินใจในระบบการทำเกษตรกรรมได้อย่างแม่นยำผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้
สำหรับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชไร่เศรษฐกิจที่สำคัญชนิดหนึ่งของประเทศไทย โดยสถานการณ์การผลิตในปี 2561 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และมีความต้องการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2561-2562 พบว่า มีความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ มากถึง 8.25 ล้านตัน