สานพลัง 7 หน่วยงาน มุ่งบูรณาการทำงานพื้นที่ พัฒนาระบบสุขภาพ นำร่อง 5 จว.

ภาคี 7 หน่วยงาน ส. ร่วมสานพลัง มุ่งบูรณาการภารกิจการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น หวังสลายภาพต่างหน่วยงานแยกงานกันทำ มุ่งเป้าข้อเสนอความต้องการจากพื้นที่ สร้างแรงกระเพื่อมสู่การปฏิบัติได้จริง เตรียมนำร่องปี 68 สร้างระบบบูรณาการที่เข้มแข็งในพื้นที่ 5 จังหวัด

เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. พร้อมด้วยหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ร่วมกันจัด ประชุมหารือนโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้านการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น ครั้งที่ 3 เพื่อแลกเปลี่ยนการบูรณาการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญของประเทศโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน ประจำปีงบประมาณ 2568 ผ่านพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ขอนแก่น นครสวรรค์ ตราด พัทลุง เพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ สู่วิถีชุมชน และสนับสนุนจังหวัดเข้มแข็ง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งทางระบบ online และ on-site

สำหรับการขับเคลื่อนแผนบูรณาการดังกล่าว จะดำเนินการโดยภาคีเครือข่าย 7 หน่วยงาน ได้แก่ สช., พอช., สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งรวมกันภายใต้ชื่อ ภาคีสานพลังพื้นที่เข้มแข็ง (ภสพ.) หรือ Area Strengthening Alliance (ASA)

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ คณะนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และประธานกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ภาพความร่วมมือของหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เกิดจากการเล็งเห็นถึงการทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ ซึ่งหลายวาระและภารกิจที่แต่ละหน่วยงานกำลังขับเคลื่อนอยู่นั้นเป็นประเด็นเดียวกัน และมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน

“ขณะที่เรากำลังประชุมพูดคุยเรื่องใดกับหน่วยงานหนึ่ง พบว่าอีกหน่วยงานหนึ่งก็กำลังประชุมเรื่องเดียวกัน เลยพยายามคุยว่า แล้วทำไมเราถึงไม่มาทำงานร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างสร้างดาวคนละดวง ทำไมเราถึงไม่มาสร้าง ‘ดาวดวงเดียวกัน’ สิ่งเหล่านี้ คือ ที่มาของภาพที่เกิดขึ้นในวันนี้” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. กล่าวว่า เป็นระยะเวลากว่า 15 ปี ที่ สำหรับการขับเคลื่อนการทำงานเพื่อสังคม และมีเป้าหมายอย่างชัดเจนที่จะสร้างชุมชนท้องถิ่น ให้มีความเข้มแข็งเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนในทุกมิติ พอช. จึงมีความมุ่งหวังที่สร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘จังหวัดจัดการตนเอง’ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะกระจายอำนาจ ทรัพยากร รวมถึงการบริหารจัดการลงไปสู่ขบวนการองค์กรชุมชน และภาคีการพัฒนาในทุกภาคส่วน สำหรับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น โดยมีหน่วยงานส่วนกลางให้การสนุบสนุน ทั้งทรัพยากร การเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานตระกูล ส. เป็นต้น

“ที่ผ่านมา แต่ละหน่วยงานมีกระบวนการในการผลักดันนโยบายเข้าสู่การปฏิบัติของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็น สสส. สช. พอช. ฯลฯ แบบต่างคนต่างจัด ซึ่งสุดท้ายมันก็เบา เป็นไปได้หรือไม่ว่าต่อจากนี้ไป เราน่าจะมารวมตัวกันสักครั้ง เพื่อเป็นหุ้นส่วนกันในการนำทุนต่างๆ ทั้ง ทุนเงิน ทุนปัญญา ทุนเครือข่ายภาคประชาชน ที่แท้จริงแล้วเป็นกลุ่มคนเดียวกัน แล้วร่วมกันจัดทำข้อเสนอใหญ่ในสิ่งที่เราจะทำร่วมกัน และผลักดันด้วยกัน” นายกฤษดา กล่าว

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นโยบายและยุทธศาสตร์ของประเทศด้านการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่น ด้วยแนวคิดการใช้พื้นที่เป็นฐาน เป็นการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายทั้ง 7 หน่วยงาน ผ่านพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง ซึ่งในอนาคตก็จะมีการขยายพื้นที่การดำเนินงานต่อไป

นพ.สุเทพ กล่าวว่า การขับเคลื่อนที่จะก่อให้เกิดภาพการบูรณการทำงานร่วมกัน ในลักษณะที่เป็นการ ‘มองดาวดวงเดียวกัน’ นั้น จะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1. ผู้นำ หรือแกนนำในระดับจังหวัด ที่ครบทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคประชาชน ภาควิชาการ ที่แต่ละองค์กรอาจจะมีเครือข่ายอยู่แล้วในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานภาคียุทธศาสตร์ ทั้ง 7 หน่วยงานจะมีหน้าที่ในการเข้าไปสร้างกระบวนการเชื่อมร้อยให้เกิดภาพการทำงานร่วมกัน

2. ระบบการสนับสนุนจากหน่วยงานส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงบประมาณที่จะจัดสรรลงไป หรือข้อมูลพื้นฐานต่างๆ เพื่อจะใช้เป็นเครื่องในการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น ข้อมูลทุนทางสังคม เพื่อให้เห็นว่าในแต่ละจังหวัด มีองค์กร โครงการ อย่างไรบ้างในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ ได้มีการดำเนินการรวมข้อมูลจากทั้ง พอช. สช. สสส. และ สปสช.

“สุดท้าย คือ การผลักดันเชิงนโยบาย ซึ่งอันนี้ ถือว่า สช. มีเส้นทางที่สั้นที่สุด เพราะเรามีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ที่จะนำเสนอนโยบายไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ อย่างไรก็ตาม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทางนี้ทางเดียว เพราะสามารถทำได้หลายวิธี หลายช่องทาง” นพ.สุเทพ กล่าว

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ ที่ปรึกษา สช. กล่าวว่า โครงสร้างการขับเคลื่อนภารกิจที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในวันนี้ มีองค์ประกอบในการขับเคลื่อนด้วยกัน 3 ส่วน ได้แก่ คณะกรรมการขับเคลื่อนหน่วยงานทั้ง 7 หน่วยงาน โดยมี ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน คณะผู้ทำงานหน่วยงาน ซึ่งแต่งตั้งโดย คสช. และคณะทำงานเครือข่ายจังหวัด ทั้ง 5 จังหวัด

นพ.ปรีดา กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาระบบสุขภาพท้องถิ่นโดยใช้พื้นที่เป็นฐาน จะบูรณาการสานพลังผ่านการกระจายพื้นที่รับผิดชอบ ให้แต่ละหน่วยงานเข้าไปหนุนเสริมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ สู่วิถีชุมชน ทั้ง 5 จังหวัด ดังนี้ เชียงราย (สปสช.) ขอนแก่น (สสส.) นครสวรรค์ (สช.) ตราด (นิด้า) พัทลุง (พอช.) โดยท้ายที่สุดแล้วจะมีการประเมินความร่วมมือและผลผลิตที่เกิดขึ้น โดย สวรส. และ บพท. ซึ่งมีผลลัพธ์ที่คาดหวังว่าในปี 2568 จะได้รับข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับความร่วมมือ นโยบาย แผน และผลผลิต รวมทั้งสามารถสร้างระบบการบูรณาการที่เข้มแข็ง ใน 5 จังหวัดนำร่อง ขณะเดียวกัน จะกำหนดให้มีการประชุมทุกวันพุธที่ 2 ของทุกเดือน เพื่อความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนภารกิจ