อย. ยกร่างประกาศฯ ยกระดับคุณภาพน้ำดื่มเทียบเท่ามาตรฐานสากล เพิ่มหลักเกณฑ์ขวดน้ำดื่มใสไร้ฉลากพลาสติกด้วยการแสดง “ฉลากดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมการนำขวดพลาสติกมารีไซเคิลง่ายขึ้น ลดปัญหาสารปนเปื้อน ปัญหาขยะฉลากพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณากำหนดคุณภาพมาตรฐานและหลักเกณฑ์วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการในการกำกับดูแลอาหารตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 เพื่อเสนอแนะการออกประกาศฯ ต่อคณะกรรมการอาหาร โดยมีนายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และเภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ ได้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท (น้ำขวด) เพื่อปรับปรุงมาตรฐานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะปัญหาสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานสากล
นายแพทย์สุรโชค ต่างวิวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ คณะอนุกรรมการได้ร่วมกันพิจารณาร่างประกาศฯ ปรับปรุงมาตรฐานของน้ำดื่มบรรจุขวดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะมาตรฐานเกี่ยวกับสารปนเปื้อนและประเภทของน้ำขวด พร้อมทั้งปรับแก้ไขข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับการแสดงฉลากให้สามารถแสดงข้อมูลเท่าที่จำเป็น ได้แก่ ชื่ออาหาร หรือตรา หรือเครื่องหมายการค้า รวมทั้งเลขสารบบอาหาร ปริมาณอาหาร และวันเดือนปีที่ผลิตหรือวันเดือนปีที่ควรบริโภคก่อน แก่ผู้บริโภคบนภาชนะบรรจุด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น การปั๊มนูน หรือการแกะสลัก แทนการพิมพ์ด้วยหมึก และให้แสดงข้อมูลอื่นผ่านฉลากดิจิทัล เช่น รหัสคิวอาร์บนฝา เพื่อลดปัญหาขยะจากวัสดุทำฉลาก ลดความยุ่งยากของกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ลดต้นทุนราคาเม็ดพลาสติกรีไซเคิลและกระบวนการรีไซเคิลพลาสติก ตลอดจนลดโอกาสการปนเปื้อนของหมึกและกาวในเม็ดพลาสติกรีไซเคิล โดยการปรับแก้ไขข้อกำหนดเกี่ยวกับฉลากนี้จะครอบคลุมถึงน้ำแร่ธรรมชาติและน้ำโซดาด้วย
การปรับปรุงกฎหมายครั้งนี้จะส่งผลดีต่อทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม เป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อีกทั้งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาขยะพลาสติกและส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลในประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)