นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลทางสื่อสังคมออนไลน์ ว่ามีการแพร่ระบาดของโควิด 19 สายพันธุ์เดลตาครอน XBC นั้น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ขอยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลเก่า
สำหรับสถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ภาพรวมทั่วโลกจากฐานข้อมูลกลาง GISAID นับตั้งแต่ช่วงวันที่ 14 ตุลาคมถึง 10 พฤศจิกายน 2567 สายพันธุ์ KP.3.1.1* พบมากที่สุด ในสัดส่วน 45.6% มีอัตราการพบลดลงเล็กน้อยในสัปดาห์ที่ 45 ส่วนสายพันธุ์ XEC พบเพิ่มขึ้นในสัดส่วน 28.4% สายพันธุ์ JN.1* พบสัดส่วน 13.1% ขณะที่สายพันธุ์ KP.3*, KP.2*, JN.1.18*, สายพันธุ์ Recombinant และ LB.1* มีแนวโน้มลดลง คิดเป็น 7.7%, 1.5%, 1.3%, 1.2% และ 1% ตามลำดับ
ส่วนสถานการณ์สายพันธุ์โควิด 19 ในไทย ขณะนี้สายพันธุ์โอมิครอน JN.1* เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุด จำนวนทั้งหมด 1,480 ราย คิดเป็นสัดส่วนสะสม 66.23% ของสายพันธุ์ทั้งหมดที่พบในประเทศไทย ขณะที่ทั่วโลก พบจำนวน 426,852 ราย จาก 131 ประเทศ (อ้างอิงฐานข้อมูล CoV-spectrum ณ วันที่ 1 มกราคม – 7 มกราคม 2568)
นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังคงเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมในรอบ 30 วัน (วันที่ 23 พฤศจิกายนถึง 22 ธันวาคม 2567) จำนวน 45 ราย พบเป็นสายพันธุ์ JN.1* มากที่สุด รองลงมาคือ XEC, KP.2* ตามลำดับ ซึ่งการเฝ้าระวังติดตามสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ จะช่วยส่งเสริมความพร้อมทางห้องปฏิบัติการในการรับมือในอนาคต โดยประเทศไทยเผยแพร่ข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมสะสม ในฐานข้อมูลกลาง GISAID จำนวน 47,369 ราย นับตั้งแต่เริ่มสถานการณ์ระบาดโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ทั้งนี้องค์การอนามัยโลกยังแนะนำให้บุคคลที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและมีอาการรุนแรง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 อย่างน้อย 1 เข็มและรับเข็มต่อไปห่างจากเข็มแรก 6-12 เดือน ผู้ที่ต้องติดต่อหรือสัมผัสกับกลุ่มเปราะบาง หรือกลุ่มเสี่ยงควรรับวัคซีน ร่วมกับการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอ เช่น การสวมหน้ากากอนามัย การปิดปาก ปิดจมูกเมื่อไอหรือจาม และการล้างมือเป็นประจำ