ความรุ่งเรืองของแดนภารตะ บนเส้นทางครัวโลก โอกาสของภาคเกษตรและอาหารไทย

Key Highlights

  • ในปี 2573 อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดีย คาดว่า จะอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10.6%CAGR (2566-2573) โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ 1) การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลดีต่อแรงงานภาคเกษตร 2) โครงสร้างชลประทานที่เอื้อต่อการเพาะปลูกและผลผลิตทางการเกษตร 3) การปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และ 4) นโยบายการสนับสนุนด้านเกษตรและอาหารอย่างจริงจังของรัฐบาลอินเดีย
  • การเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในอินเดียจะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในกลุ่มธุรกิจปศุสัตว์ รวมถึงอาหารแปรรูปและเครื่องดื่ม รวมทั้งสามารถต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มุ่ง เน้นความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์จากพืช ผลิตภัณฑ์ข้าวรักษ์โลก เพื่อรองรับเทรนด์การบริโภคที่ยั่งยืนในอินเดียที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • Krungthai COMPASS แนะนำผู้ประกอบการการไทยควรศึกษากฎระเบียบข้อบังคับในตลาดอินเดีย โดยเฉพาะมาตรฐานด้านอาหารที่มีความเข้มงวด พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าในท้องถิ่น นอกจากนี้ การยกระดับสู่การผลิตที่ยั่งยืนถือเป็นปัจจัยสำคัญ ไม่เพียงตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ยังสอดรับกับกระแสการค้าโลกที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการค้าที่ยั่งยืน

ปราโมทย์ วัฒนานุสาร

กฤชนนท์ จินดาวงศ์

Krungthai COMPASS

อินเดียกำลังกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยคาดว่าในปี 2573 GDP ของอินเดียจะมีมูลค่า 7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 250 ล้านล้านบาท) ด้วยประชากรกว่า 1.4 พันล้านคน ทำให้ตลาดการบริโภคภายในประเทศมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากจีน ซึ่งส่งผลดีต่อการเติบโตของภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งมีมูลค่าราว 15-20% ของ GDP ของประเทศอินเดียในแต่ละปี และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจากศักยภาพในภาคเกษตรที่อินเดียเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก ดังนั้น ในบทความนี้จะฉายภาพให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบการเกษตรและอาหารไทย จากการเติบโตของภาคเกษตรและอาหารของอินเดีย แต่ก่อนอื่น อยากจะชวนผู้อ่านมาทำความรู้จักกับภาคเกษตรและอาหารของอินเดียก่อนว่ามีความน่าสนใจอย่างไร?

ทำความรู้จักกับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดีย

ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สินค้าใดที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของอินเดีย?

อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางการเกษตรและเป็นผู้ผลิตหลักของสินค้าเกษตรหลายประเภทที่สำคัญระดับโลก ทำให้มีบทบาทสำคัญในการผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรที่หลากหลาย เช่น ข้าว นม กระบือ ข้าวโพด ฝ้าย และเครื่องเทศ โดยในปี 2566 สินค้าที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดได้แก่ นมกระบือ ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 100 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 18.5% ของมูลค่าภาคเกษตรและอาหารของอินเดีย และเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 1 ของโลก รองลงมา คือ นมวัวและข้าว ที่มีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 75 และ 53 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 13.9% และ 9.8% ของมูลค่าภาคเกษตรและอาหารของอินเดีย และเป็นผู้ผลิตอันดับที่ 1 และ 2 ของโลก ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดียเติบโตแค่ไหน?

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดียคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2573 หรือเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 10.6%CAGR (2566-2573) โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ 4 ประการ คือ 1) การเพิ่มขึ้นของประชากรซึ่งส่งผลดีต่อแรงงานภาคเกษตร 2)แนวโน้มการขยายพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรของเกษตรกรจากโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะโครงสร้างชลประทาน 3) การปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะทำให้ผลผลิตต่อไร่ของสินค้าเกษตรของอินเดียเพิ่มขึ้น 4) นโยบายการสนับสนุนด้านเกษตรและอาหารอย่างจริงจังของรัฐบาลอินเดียจะช่วยให้ภาคเกษตรและอาหารของอินเดียสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดียเติบโตจากปัจจัยอะไรบ้าง?

ประการแรก การเพิ่มขึ้นของประชากรส่งผลดีต่อแรงงานภาคเกษตรในอินเดีย สะท้อนจากการประมาณการของ Population Pyramid ชี้ว่า ในปี 2567 อินเดียจะเป็นผู้นำของประเทศที่มีจำนวนประชากรเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่ที่ 1,451 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 17.8% ของจำนวนประชากรโลก และแซงหน้าจีนที่มีประชากรอยู่ที่ 1,419 ล้านคน และคาดว่าในปี 2573 อินเดียจะมีประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ 1,525 ล้านคน หรือเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 0.8% CAGR (2567-2573) และยังสูงกว่าจำนวนประชากรของจีนที่มีแนวโน้มลดลงมาอยู่ที่ 1,398 ล้านคน หรือลดลงเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 0.3% CAGR (2567-2573)

ทั้งนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของอินเดียจะเป็นหนุ่มสาววัยทำงาน คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยถึง 65% ของจำนวนประชากรทั้งหมดของอินเดีย โดยกว่า 45% ของแรงงานทั้งหมดของอินเดีย คาดว่าจะอยู่ในภาคเกษตร ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีการจ้างงานที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียและเป็นตัวขับเคลื่อนความมั่นคงทางอาหารของประเทศ สอดคล้องกับข้อมูลของ World Bank ที่ชี้ว่า อินเดียมีสัดส่วนประชากรที่อยู่ในระดับความยากจนขั้นรุนแรงถึง 70% และส่งผลให้การเข้าถึงการศึกษายังมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงทำให้ประชากรวัยทำงานยังคงต้องเข้าสู่ภาคเกษตรในอนาคต

ประการที่สอง โครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนา โดยเฉพาะโครงสร้างชลประทาน ทำให้เอื้อต่อการเพาะปลูกและผลผลิตทางการเกษตรของอินเดีย โดยอินเดียได้มีการดำเนินโครงการเชื่อมโยงแม่น้ำของอินเดีย (National River Linking Project) แบ่งเป็น Peninsular Component ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกในภาคเหนือและภาคกลางของอินเดีย และ Himalayan Component ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงแม่น้ำหลักๆ ของประเทศ อีกทั้งมีการสร้างคลองและระบบชลประทานเพื่อจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมและและลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่เกษตรกรรม โดยสามารถกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนและส่งน้ำไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง ส่งผลดีให้ในระยะข้างหน้าอินเดียจะมีพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมและภาคเกษตรมีน้ำใช้อย่างพอเพียง โดย FAO คาดว่า ในปี 2573 พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรของอินเดียอยู่ที่ 160 ล้านเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.4%CAGR (2566-2573)

ประการที่สาม การปรับใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะทำให้ผลผลิตต่อไร่ของสินค้าเกษตรของอินเดียเพิ่มขึ้น จากรายงานของ IMARC Group คาดว่า ในปี 2575 มูลค่าตลาดเทคโนโลยีทางการเกษตร (Agritech) ของอินเดีย จะอยู่ที่ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ย 11.5%CAGR (2567-75) โดยความร่วมมือของกระทรวงเกษตรและกระทรวงอิเล็กทรอนิกส์และไอทีอินเดีย ได้มีการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อปรับปรุงกระบวนการทางการเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพิ่มประสิทธิผลในด้านผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรอย่างยั่งยืน อีกทั้ง AI ยังสามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อพยากรณ์สภาพอากาศ และสภาพดิน หรือ IoT ที่ช่วยในการตรวจจับโรค หรือสารอาหารในพืช ช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจได้อย่าง real-time ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นและลดการสูญเสียของทรัพยากรอีกด้วย โดยข้อมูลจาก Statista ชี้ว่า ในปี 2573 ผลผลิตทางการเกษตร (Yield) ของอินเดียอยู่ที่ 4,500 กิโลกรัมต่อเฮกตาร์ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 8.8%CAGR (2566-2573)

ประการที่สี่ นโยบายการสนับสนุนด้านเกษตรและอาหารอย่างจริงจังของรัฐบาลอินเดียจะช่วยหนุนให้ภาคเกษตรและอาหารของอินเดียเติบโตได้อีกมาก โดยรัฐบาลอินเดียมีนโยบายการสนับสนุนด้านเกษตรและอาหารที่ครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสนับสนุนด้านการเงินและเครดิต การประกันความเสี่ยงไปจนถึงการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาสิ่งแวดล้อม นโยบายเหล่านี้ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของภาคการเกษตรในอินเดียและช่วยลดความยากจนในชนบท

นอกจากนั้น ภาครัฐของอินเดียยังสนับสนุนการเติบโตของ Green Finance ในภาคเกษตรและอาหาร ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการพัฒนาเกษตรกรรมที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ เช่น ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งการสนับสนุนจากรัฐบาลผ่านนโยบายต่างๆ รวมถึงการลงทุนจากภาคเอกชนในการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารได้ในอนาคต

โอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเกาะเกี่ยวไปกับการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดีย

ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มเกษตรและอาหารมีโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจที่หลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ การแปรรูปอาหารและเครื่องดื่ม ตามการเติบโตของประชากรและนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดีย ประกอบกับผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการเกษตรและอาหารของไทยที่เข้าไปลงทุนในอินเดียบ้างแล้ว อาทิ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) ได้ขยายธุรกิจด้านการเกษตรและอาหารในอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเลี้ยงสัตว์ เช่น การผลิตอาหารสัตว์ และธุรกิจเกี่ยวกับฟาร์มสัตว์ปีก รวมถึงได้ขยายการลงทุนในอินเดียผ่านการจัดตั้งบริษัท CP B&F India โดยมุ่งเน้นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ร่วมทุนกับบริษัท Srinivasa Cystine Private Limited (SCPL) ในอินเดีย เน้นธุรกิจจัดหาวัตถุดิบที่ใช้เป็นส่วนผสมอาหารคุณภาพสูงให้กับตลาดในประเทศอินเดีย ทั้งนี้ ภาครัฐอินเดียได้มีโครงการ Production Linked Incentive (PLI) อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยตรงในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร 100% ภายในปี 2568

เทรนด์รักษ์โลกที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอินเดีย ผลสำรวจพฤติกรรมการบริโภคอาหารและข้าวของอินเดียจาก GIZ ชี้ว่า ผู้บริโภคชาวอินเดียกว่า 82% มีความต้องการซื้ออาหารและข้าวที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ผู้บริโภคชาวอินเดียถึง 88% มีความเต็มใจที่จะจ่ายมากขึ้นราว 5-10% สำหรับซื้อข้าวที่ปลูกอย่างยั่งยืน อีกทั้งอินเดียเป็นประเทศที่ทานมังสวิรัติมากที่สุดในโลก และชาวอินเดียก็ให้ความสำคัญกับการไม่ทารุณสัตว์ ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเปลี่ยนมารับประทานมังสวิรัติ รวมถึงความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based Meat) ที่เพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจาก IMARC Group คาดว่า ในปี 2575 ตลาดเนื้อสัตว์จากพืชของอินเดีย จะมีมูลค่ากว่า 6.1 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเฉลี่ย 25.4%CAGR (2566-75)

นอกจากนี้ ภาครัฐอินเดียใส่ใจในมิติสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาสินค้าอาหาร โดยออกนโยบายห้ามและลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งรวมถึงถุงหิ้ว บรรจุภัณฑ์อาหาร จาน ถ้วย ช้อนส้อม หลอดดื่มน้ำ และพลาสติกห่ออาหาร จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเกษตรและอาหารของไทย ที่จะสามารถต่อยอดไปยังสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ให้ความ
สำคัญกับความยั่งยืนและตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารหรือข้าวรักษ์โลก รวมถึงช้อน
ส้อมกินได้จากผลผลิตการเกษตรที่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติหรือบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

Implication

Krungthai COMPASS มองว่า การเติบโตอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในอินเดียจะเป็นโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเกษตรและอาหารในการขยายไปสู่ตลาดอินเดีย โดยได้รับการสนับสนุนจากหลายปัจจัยสำคัญ อาทิ การเติบโตของประชากรที่ส่งผลดีต่อแรงงานภาคเกษตรในอินเดีย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิต

สำหรับผู้ประกอบการไทย การเข้าสู่ตลาดอินเดียในภาคเกษตรและอาหารนั้นเต็มไปด้วยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจที่ตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดอินเดีย เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม การแปรรูปอาหาร รวมถึงยังเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะการยกระดับการผลิตสู่การจัดหาวัตถุดิบยั่งยืน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลงทุนใน Green Finance เพื่อรองรับเทรนด์การบริโภคที่ยั่งยืนในอินเดีย

ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการที่สนใจตลาดนี้ ควรศึกษากฎระเบียบข้อบังคับในตลาดอินเดีย โดยเฉพาะมาตรฐานด้านอาหารที่มีความเข้มงวด เช่น การรับรอง จาก The Food Safety and Standards Authority of India (FSSAI) และการควบคุมคุณภาพสินค้า พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าในท้องถิ่น หรือผลึกกำลังร่วมทุนกับบริษัทในท้องถิ่นก็จะช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดได้มากขึ้น นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับความต้องการบริโภคที่หลากหลายในเรื่องอาหาร และวัฒนธรรมผู้บริโภคในอินเดีย รวมถึงยกระดับการผลิตที่ยั่งยืน เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และสอดรับกับกระแสการค้าโลกที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการค้าที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม ในอีกด้านการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในอินเดียก็อาจสร้างความท้าทายเพิ่มขึ้นต่อภาพรวมการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยที่มีตลาดส่งออกเดียวกับอินเดีย จากการที่อินเดียจะยกระดับตัวเองมาเป็นผู้เล่นหลักในตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารโลกมากขึ้น ทำให้การแข่งขันมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นโดยเฉพาะสินค้าเกษตรสำคัญของไทย เช่น ข้าว ซึ่งเป็นสินค้าที่อินเดียมีความได้เปรียบเทียบจากต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าไทย ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเร่งปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก โดยเน้นการสร้างความแตกต่างในตัวสินค้า เช่น การเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ในขณะเดียวกันควรสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ก็สามารถช่วยเปิดโอกาสทางการค้าและลดข้อจำกัดทางการค้าได้อีกด้วย