เพื่อตอกย้ำการรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจให้คนไทยห่างไกลภาวะซึมเศร้า กรุงเทพประกันภัย และกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จึงได้จัดกิจกรรม “กรุงเทพประกันภัย ส่งเสริมสุขภาพใจ ใส่ใจสุขภาพจิต เพื่อการป้องกันอย่างยั่งยืน” ภายใต้แนวคิด ยินดีที่ได้ “รู้ใจ” เพื่อให้ความรู้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ และบุคคลทั่วไป เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าอย่างถูกต้อง โดยเป็นกิจกรรมที่จะจัดอย่างต่อเนื่องในสถาบันการศึกษาต่างๆ มุ่งเน้นให้ความรู้แก่นิสิตนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันต่างๆ โดยได้รับความสนใจและความร่วมมือจากสถาบันการบินพลเรือนในการจัดกิจกรรมดังกล่าว ณ ห้องประชุมนานาชาติ อาคารศูนย์พัฒนาบุคลากรด้านการบิน สถาบันการบินพลเรือน เมื่อเร็วๆ นี้
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหารและกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสุขภาพจิตซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ของสังคม โดยปัจจุบันผู้ป่วยจิตเวชหรือผู้ที่เข้าสู่ภาวะซึมเศร้ามีจำนวนเพิ่มขึ้นในแต่ละปี และนำไปสู่ความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้ บริษัทฯ จึงร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เน้นการสร้างความตระหนักรู้เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องภาวะซึมเศร้าและวิธีแก้ปัญหาได้อย่างถูกวิธีและเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาได้ร่วมผลิตสื่อโฆษณาที่สะท้อนถึงภาวะซึมเศร้า และประชาสัมพันธ์เบอร์โทรสายด่วน กรมสุขภาพจิต 1323 ตลอดจนมีการจัดกิจกรรมเสวนาความรู้เรื่องสุขภาพจิต รวมถึงการให้ความรู้ผ่านสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มประชาชนทั่วไปได้อย่างทั่วถึง และกิจกรรมในครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เรามาสร้างความรู้ความเข้าใจสู่กลุ่มเยาวชน นักศึกษาสถาบันการบินพลเรือน สังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกันการเกิดภาวะซึมเศร้าที่มาจากความเครียดสะสม และก่อให้เกิดโรคซึมเศร้าตามมาในที่สุด แต่หากเกิดขึ้นกับตนเองหรือคนรอบข้างก็สามารถขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ และการเยียวยาที่เหมาะสม เพื่อสกัดกั้นไม่ให้เกิดการสูญเสียในระยะยาวต่อไปได้ และทุกคนสามารถร่วมเป็นกลไกหนึ่งในการร่วมดูแลคนรอบข้างที่อาจเข้าสู่ภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน”
ดร.พันศักดิ์ เนินทราย ผู้อำนวยการกองวิชาการบริการการจราจรทางอากาศ รักษาการในตำแหน่งรองผู้ว่าการฝ่ายวิชาการ สถาบันการบินพลเรือน กล่าวว่า “ในสังคมปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ รวมทั้งความคิดและพฤติกรรมของคนที่มีความหลากหลาย ทำให้เรามีความจำเป็นที่จะต้องมีการตัดสินใจในเชิงเหตุผลมากขึ้น เรื่องราวและปัญหาในชีวิตประจำวันที่แตกต่างกันก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนทุกเพศทุกวัยเกิดความเครียดสูงขึ้น และอาจพัฒนาไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในการใช้ชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ที่เสี่ยงต่อการจะเป็นภาวะซึมเศร้ามากขึ้นทุกๆ ปี แต่เรากลับมีความรู้ความเข้าใจต่อวิธีการรับมือ การให้คำแนะนำและการให้คำปรึกษาที่น้อยมาก ภาวะซึมเศร้ามิใช่อารมณ์เศร้าธรรมดาๆ แต่เป็นอาการที่แสดงออกมาจากตัวบุคคล การให้ความรู้ความเข้าใจถึงสัญญาณบ่งชี้ต่างๆ ในเบื้องต้น และรู้เท่าทันจะทำให้การดูแล การรับมือ การรับฟังให้คำปรึกษา ดำเนินไปตามกระบวนการได้อย่างถูกต้อง ถูกหลักการ และเป็นการป้องปรามผลร้ายแรงที่จะตามมาได้ ซึ่งต้องขอขอบคุณกรุงเทพประกันภัย และกรมสุขภาพจิต ที่เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์แก่นักศึกษา และบุคลากรของสถาบันการบินพลเรือน”
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า รวมถึงข้อมูลด้านสุขภาพจิตในมุมที่เป็นประโยชน์และเป็นเรื่องที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน พร้อมชมวิดีโอกราฟิก ยินดีที่ได้ “รู้ใจ” ที่จะเปิดประตูสู่ใจให้ได้ทำความรู้จักกับตัวเองและคนรอบข้างมากยิ่งขึ้นในรูปแบบที่ดีต่อใจผ่าน 4 คาแรกเตอร์ ได้แก่ น้องรู้ใจ น้องใส่ใจ น้องเปิดใจ และน้องเบาใจ รวมทั้งมีกิจกรรมฮีลใจที่ให้ความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า ในหัวข้อ “กว่าจะรู้ใจ” โดยร่วมเสวนาพูดคุยกับผู้เชี่ยชาญด้านสุขภาพจิต พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พร้อมด้วยศิลปิน 3 คน “เขื่อน” ภัทรดนัย เสตสุวรรณ “แพรวา” ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ และ “คริส” พีรวัส แสงโพธิรัตน์ ที่ต่างเคยผ่านมรสุมที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ ร่วมแชร์ประสบการณ์ตรงที่เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไปที่มาร่วมงาน
โดย พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า “ปัจจุบันสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าในวัยรุ่นมีเพิ่มจำนวนมากขึ้น ซึ่งการเสพโซเชียลมีเดียมากจนเกินไปก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน ซึ่งสามารถสังเกตตัวเองและคนรอบข้างที่เริ่มมีภาวะซึมเศร้าจากการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวัน เช่น นอนไม่หลับ หงุดหงิดง่าย ไม่มีสมาธิในการจดจ่อทำสิ่งใดนานๆ
“นอกจากนี้ การเกิดภาวะซึมเศร้ามาจากปัจจัยหลายอย่าง ทั้งจากประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนที่พบเจอมาจากครอบครัว เพื่อน การทำงาน รวมถึงสังคม ซึ่งแต่ละคนมีความเข้มแข็งทางจิตใจไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราแนะนำ บางครั้งเขารู้ดีแต่ไม่สามารถทำได้ หลายคนที่มีปัญหา เขาไม่ได้ต้องการวิธีแก้จากเรา แต่ต้องการคนรับฟังเขาอย่างจริงใจ และอยู่ข้างๆ ให้เขารู้ว่ามีเราอยู่ด้วยตรงนี้ แต่การเป็นผู้ฟังก็ต้องรู้ขอบเขตของตัวเอง ถ้าฟังจนเครียดอาจส่งผลกระทบในชีวิตของเราเองด้วย สิ่งหนึ่งที่อยากฝากทุกคนคือ เราทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบชีวิตของตัวเอง เราควรช่วยเท่าที่สามารถจะทำได้และสบายใจ แต่ถ้ารู้สึกไม่ไหว สามารถแนะนำให้เขาปรึกษาแพทย์ที่เชี่ยวชาญได้เช่นกัน”
“เขื่อน” ภัทรดนัย เสตสุวรรณ กับบทบาทของ “นักจิตบำบัด” แนะนำว่า “ใครที่มีเพื่อนๆ หรือคนรอบข้างที่ต้องประสบภาวะซึมเศร้า ซึ่งเราแม้จะไม่ได้เป็นจิตแพทย์หรือนักจิตบำบัด ก็สามารถช่วยผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าได้ เพียงรับฟังพวกเขาโดยไม่ต้องคิดค้นหาคำตอบอะไรให้เขาก็ได้ แต่ถ้าเรารับฟังไม่ไหว หรือฟังมากไปจนรู้สึกเครียดตามไปด้วย ก็สามารถขอรับคำแนะนำจากคุณหมอหรือนักจิตบำบัดได้เช่นกัน อย่างตนเองที่ทํางานจิตบําบัดมา 4-5 ปีแล้ว ทุกวันนี้ต้องรีเซ็ตตัวเองโดยการไปพบนักจิตบําบัดปีละ 48 ครั้ง มา 4 ปีแล้ว เพราะแม้จะมีทักษะในด้านนี้ก็ต้องมีพื้นที่ให้ระบายออกไปบ้าง สำคัญที่สุดคือ เราทุกคนต้องรู้ว่าพื้นที่ปลอดภัยของเราคือใคร และเป็นเซฟโซนที่สามารถแบ่งปันความสุขทุกข์ให้กันได้อย่างสบายใจที่สุด”
“แพรวา” ณิชาภัทร ฉัตรชัยพลรัตน์ นักแสดงสาวผู้ที่ก้าวข้ามผ่านประสบการณ์ความเปราะบางในจิตใจ เล่าว่า “ตอนนั้นมีภาวะที่รู้สึกว่าปัญหาเยอะจังเลย และกำลังจะเปิดกล้องซีรีส์ด้วย ระหว่างนั้นเลยมีโอกาสได้ไปพบคุณหมอ การได้พูดคุย ระบายเรื่องราวในใจก็ช่วยให้ปรับความคิดทัศนคติได้ดีขึ้น และการมีเพื่อนที่เข้าใจในสิ่งที่เราเป็น และคอยอยู่ข้างๆ เสมอนั้น มีผลมากในการเยียวยาใจ ทุกวันนี้เวลาเจอเรื่องหนักๆ จะปรับให้มันเป็นเรื่องตลก และเราต้องหาจุดที่เราจะมีความสุขในความทุกข์ของเรา สมมติเลิกกับแฟนก็เศร้านะ แต่ข้อดีคือเรากลับมาโสดอีกครั้ง จึงขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่กำลังประสบกับภาวะนี้ให้ผ่านมันไปได้”
ศิลปินหนุ่มอารมณ์ดี “คริส” พีรวัส แสงโพธิรัตน์ ผู้ที่เปิดใจต่อการดูแลรักษาอารมณ์ของใจอย่าง ถูกวิธี เผยว่า “ตัวเองก็เคยขอรับคำปรึกษาจากคุณหมอ ตอนแรกคิดว่าตัวเองป่วย แต่พอเวลาผ่านไปก็ได้ข้อสรุปว่า อาจจะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านวัย จากช่วงวัยรุ่นที่เล่นสนุกกับเพื่อนๆ ไม่ต้องคิดอะไรมากมาย พอเริ่มโตขึ้นมีหลายอย่างต้องรับผิดชอบทั้งการทำงาน ครอบครัว ทำให้รู้สึกว่าชีวิตไม่แฮปปี้ พอได้ปรึกษาคุณหมอก็ทำให้รู้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นตอนปลายเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนต้น ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับตัวก็เริ่มดีขึ้นเอง ที่สำคัญการที่รอบตัวผมรายล้อมไปด้วยเพื่อนที่ดี ทำให้ผมได้อยู่กับสิ่งที่เรามีความสุข อยู่กับคนที่เรามีความสุข แล้วก็ได้แบ่งปันเรื่องราวที่เราเจอมา บางครั้งทำให้เรื่องเครียดๆ กลายเป็นเรื่องสนุกสนาน เพื่อช่วยเปลี่ยนบรรยากาศให้ดีขึ้น และทําให้เราลืมสิ่งนั้นไปได้เหมือนกัน”
สำหรับกิจกรรมดีๆ เช่นนี้ บริษัทฯ ยังคงมีนโยบายที่จะจัดขึ้นอีกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักและสร้างความรู้ความเข้าใจในภาวะซึมเศร้าอย่างถูกต้อง และหากต้องการขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านสุขภาพจิต สามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร. 1323