สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เข้าร่วมรับรางวัล “หน่วยงานคุณภาพด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Participation ในการประเมินระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐประจำปี 2567 มุ่งสู่การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน
งานมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ประจำป 2567 “DG Awards 2024” ครั้งนี้ นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นตัวแทนในการรับรางวัล “หน่วยงานคุณภาพด้านส่งเสริมการมีส่วนร่วมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือ e-Participation ของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ในการประเมินระดับความพร้อมรัฐบาลดิจิทัลหน่วยงานภาครัฐประจำปี 2567 โดยได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานในการมอบรางวัลรัฐบาลดิจิทัล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ประธานในพิธีมอบรางวัลฯ ได้มอบนโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล ว่า รัฐบาลมีเป้าที่มุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อ 1. ส่งเสริมศักยภาพภาครัฐให้มีการทำงานที่ต้องคล่องตัว ลดค่าใช้จ่ายลดเวลาทำงาน สามารถสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจและประชาชน ลดขั้นตอน เบ็ดเสร็จ 2. การมีข้อมูลที่ตรวจสอบได้ การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ 3. การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม และ 4. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยอยากให้ภาครัฐออกแบบการทำงานคำนึงถึงเป้าหมายเหล่านี้ โดย AI BigData Blockchain 5G ก็เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะนำมาใช้ประโยชน์ แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย Cybersecurity ด้วย
นายแพทย์สุเทพ เพชรมาก กล่าวว่า สช. มีความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลนี้ สช.เป็นองค์กรภาครัฐที่มีบทบาทตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ในการเชื่อมประสานการทำงานให้เกิดการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาชน ซึ่งรวมถึงประชาสังคม เอกชน และองค์กรต่างๆ ในทุกระดับ
สำหรับรางวัล e-Participation แสดงให้เห็นว่า สช.ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้รับบริการ (Public Participation) โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการให้ข้อมูลข่าวสาร การปรึกษาหารือรับฟังความคิดเห็น การเสนอทางเลือกและร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายและการบริการจากภาครัฐ อย่างเป็นรูปธรรม มาประยุกต์ใช้ใน 3 รูปแบบได้แก่
e-Information เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้รับบริการรับข้อมูลข่าวสาร การรับฟังความคิดเห็นและเชิญชวนประชาชนร่วมกิจกรรม การเปิดเผยชุดข้อมูลเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ รวมถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศ (GIS) สำหรับประชาชน ร่วมถึงการร่วมลงทุน/หุ้นส่วนระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ในการให้การบริการสถานบริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย Palliative Care เป็นต้น โดยการดำเนินงานดังกล่าวสามารถรับบริการและรับข้อมูลผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ www.nationalhealth.or.th Facebook: สช. Samatcha.org, TikTok, Twitter.com เป็นต้น อีกทั้งยังมีภาคีเครือข่ายสื่อและสังคมออนไลน์ในการช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์กับประชาชน
e-Consultation เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการสามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายหรือการบริหารจากภาครัฐในแบบ e-services ผ่านหน้าเว็ปไซต์ การรวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านสุขภาวะผ่านการ Zoom Meeting การมีช่องทางแจ้งเบาะแสทุจริต การสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ เป็นต้น
e-Decision Making เปิดโอกาสให้ผู้รับบริการเข้ามามีส่วนร่วมโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อให้ประชาชนสามารถเสนอทางเลือกและร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย หรือการบริการจากภาครัฐ อาทิ การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในกระบวนการสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในห้องประชุม Zoom, Google form, Facebook Live และช่องทางเวทีออนไลน์ต่างๆ ส่งผลให้เกิดการตัดสินใจ นำไปสู่การกำหนดนโยบายในประเด็นต่างๆ การมีระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือกลไกที่คล้ายกันเพื่อให้ประชาชนยื่นคำร้องเสนอร่างกฏหมายหรือญัตติเพื่อนำไปสู่การพิจารณาหารือในการจัดทำ/แก้ไขนโยบายหรือกฏหมาย การบริการสาธารณสุข การคุ้มครองสิทธิของประชาชนและสังคม เป็นต้น
การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ Public Participation นี้ ถือเป็นองค์ประกอบหนึ่ง่ในการประเมินความพร้อมรัฐบาลดิจิทัล และ สช.เองก็ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาวะที่ดี และยังมีส่วนช่วยให้การบริหารจัดการภาครัฐสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดี และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย นายแพทย์สุเทพ กล่าวปิดท้าย