สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) โดยการสนับสนุนจากราชอาณาจักรโมร็อกโก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา เปิดศูนย์ MRC Education Visitor Centre อย่างเป็นทางการ ณ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ. 2567 (Chairperson of MRC Joint Committee for 2024) พร้อมด้วย ดร.วินัย วังพิมูล ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย สทนช. ร่วมงานเปิดศูนย์
MRC Education Visitor Centre โดยพิธีเปิดศูนย์ฯ ได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ สอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และ ฯพณฯ บุญคำ วรจิต รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สปป.ลาว ในฐานะประธานคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ. 2567 ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดฯ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากราชอาณาจักรโมร็อกโก ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยมี นายอับดุรเราะฮีม เราะห์ฮาลี (H.E. Mr. Abderrahim Rahhaly) เอกอัครราชทูตโมร็อกโกประจำประเทศไทย นายโคอิซึมิ ซูโตมุ (H.E. Mr. KOIZUMI Tsutomu) เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำ สปป.ลาว และนางสาวเฮเทอร์ วาเรียวา (H.E. Ms. Heather Variava) เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำ สปป.ลาว พร้อมด้วยผู้แทนจากประเทศสมาชิก MRC และผู้แทนที่เกี่ยวข้องจากประเทศหุ้นส่วนการพัฒนาและพันธมิตร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 67
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า ลุ่มน้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่สำคัญของโลก มีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสนับสนุนการดำรงชีวิตของประชาชนในภูมิภาค ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงต้องเผชิญกับความท้าทาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรที่จำกัด และการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดย MRC ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศได้มีเป้าหมายในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะจากความร่วมมือของประเทศสมาชิก 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม พร้อมความร่วมมือจากประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา และพันธมิตรนานาชาติ เพื่อร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เสริมสร้างความมั่นคงแบบบูรณาการในทุกระดับเพื่ออนาคตที่มั่นคงและยั่งยืนของลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งนี้ การเปิดศูนย์การเรียนรู้ MRC Education Visitor Centre เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลและศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับลุ่มน้ำโขง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ โดยให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของแม่น้ำโขงในด้านต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ส่งเสริมการเรียนรู้สนับสนุนการศึกษาวิจัยและการพัฒนาองค์ความรู้ในด้านการจัดการทรัพยากรต่าง ๆ และเผยแพร่องค์ความรู้ ถ่ายทอดข้อมูลของ MRC ที่ถูกต้องและแม่นยำ สู่สาธารณชน โดย สทนช. ในฐานะ TNMCS มั่นใจว่าการจัดตั้ง MRC Education Visitor Centre จะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจในมิติของการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เพื่อปกป้องและใช้ทรัพยากรน้ำอย่างสมดุลและมีประสิทธิภาพ ผ่านบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในฐานะ “ศูนย์กลางความรู้และข้อมูลของอนุภูมิภาค” ซึ่งการจัดตั้งศูนย์ฯ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศสมาชิกในการร่วมมือกันบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในภูมิภาคต่อไป