ส.ป.ก. มุ่งพัฒนาพื้นที่ เพื่อความเป็นอยู่เกษตรกร พร้อมขับเคลื่อนสร้างความสมดุลอย่างยั่งยืน

นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการโครงการและการเงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (อกก.คง.) ครั้งที่ 10/2567 ในวันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมไชยยงค์ ชูชาติ ส.ป.ก. ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ

ในการประชุม อกก.คง. ครั้งที่ 10/2567 มีวาระการประชุมที่สำคัญในการขอความเห็นชอบโครงการและใช้เงินกองทุนฯ
(1) โครงการสำรวจ อนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการสำรวจวางโครงหมุดหลักฐานแผนที่และปักหลักเขต ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นงบดำเนินงาน จำนวนเงิน 6,579,994 บาท
(2) โครงการปรับปรุงและบำรุงรักษา อนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการงานขุดลอกร่องสวนแปลงเกษตรกรรม ในแปลงที่ดินพระราชทานโฉนดหมายเลขที่ 8421 หมู่ที่ 6 ต.วังน้อย อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา จำนวนเงิน 644,160 บาท
(3) อนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการปรับพื้นที่แปลงชุมชน โครงการแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรสภาประชาชน 4 ภาค จ.เพชรบุรี
(4) โครงการพัฒนา อนุมัติเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายตามโครงการก่อสร้างหอถังสูงและระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน ครั้งที่ 1/2568 (ระยะที่ 2) จำนวน 32 แห่ง 13 จังหวัด เพื่อเป็นการช่วยให้เกษตรกรมีแหล่งน้ำสำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งและการอุปโภค-บริโภค รวมถึงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของแหล่งน้ำในเขตปฏิรูปที่ดิน​

​นอกจากนั้นยังมีการขอความเห็นชอบแนวทางการขออนุมัติยกเลิกหรือปิดโครงการตามระเบียบ คปก. ว่าด้วยการจัดทำโครงการที่ใช้เงินกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2558 รวมถึงการรายงานผลการดำเนินงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และผลการปฏิบัติงานตามกรอบหลักเกณฑ์ประเมินผลการดำเนินงานกองทุนฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ไตรมาสที่ 4 เพื่อให้การดำเนินงานกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามระเบียบที่กำหนด

​นายเศรษฐเกียรติ เผยว่า “เราให้ความสำคัญในเรื่องสาธารณูปโภคและเพิ่มประสิทธิภาพความเป็นอยู่ของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน จึงมีมติอนุมัติโครงการปรับปรุงและบำรุงรักษาปรับพื้นที่แปลงชุมชนและขุดลอกร่องสวนแปลงเกษตรกรรม เพื่อการทำการเกษตรที่ยั่งยืนของเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนั้นยังอนุมัติค่าใช้จ่ายเพื่อการสำรวจ โดย ส.ป.ก. ให้ความสำคัญในการวางโครงหมุดหลักฐานแผนที่และปักหลักเขต เพื่อการจัดที่ดินที่มีความถูกต้อง และแม่นยำ สามารถนำพื้นที่เหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอด พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ รวมถึงการเพื่อให้มีความรู้ สามารถให้คำแนะนำพี่น้องเกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราจะขับเคลื่อนไปด้วยกันทั้งในมิติเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลและเกิดความยั่งยืนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่พี่น้องเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินทั่วประเทศ”