ค่าเงินบาทไทยแข็งค่า แต่การส่งออกไปตลาดสำคัญยังขยายตัวได้ดี

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)  เปิดเผยว่า สนค. ได้ทำการวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าที่สำคัญและของไทย พบว่า ค่าเงินบาทเฉลี่ยจากต้นปีจนถึงวันที่ 30 ส.ค. 2562 อยู่ที่ 31.39 บาท ต่อ ดอลลาร์ สรอ. แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน และแข็งค่ากว่าประเทศคู่แข่งและคู่ค้าที่สำคัญ ซึ่งส่วนมากค่าเงินอ่อนค่า เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งระหว่างประเทศ อย่างเช่น เกาหลีใต้ (อ่อนค่าร้อยละ 6.5) สหภาพยุโรป (อ่อนค่าร้อยละ 6.3)  อังกฤษ (อ่อนค่าร้อยละ 6.2) จีน (อ่อนค่าร้อยละ 5.3)  อินเดีย (อ่อนค่าร้อยละ 5.1)  ไต้หวัน (อ่อนค่าร้อยละ 4.0)  มาเลเซีย (อ่อนค่าร้อยละ 4.0)  และเวียดนาม (อ่อนค่าร้อยละ 2.1) เป็นต้น  อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังทำได้ดีกว่าประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่า โดย 7 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกหดตัวร้อยละ 1.9 ส่วนเกาหลีใต้หดตัวร้อยละ 8.9 อังกฤษหดตัวร้อยละ 3.5 ไต้หวันหดตัวร้อยละ 2.9 และมาเลเซียหดตัวร้อยละ 4.8 ดังนั้นการแข็งค่าของค่าเงินบาทแม้ว่าจะทำให้รายได้ผู้ประกอบการลดลง แต่ในภาพรวมส่งผลกระทบต่อการส่งออกยังจำกัด

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากแข็งค่าของค่าเงิน พบว่า แม้ว่าการส่งออกสินค้าเกษตรบางชนิดจะหดตัว แต่การส่งออกไปบางตลาดยังขยายตัวได้ดี เช่น การส่งออกข้าว 7 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 18.5 แต่ส่งออกไปสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 13.9 (มีสัดส่วนร้อยละ 13.8 ของการส่งออกข้าวทั้งหมด) การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง 7 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 6.9 แต่การส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 3.2 (มีสัดส่วนร้อยละ 10.6) การส่งออกข้าวโพด 7 เดือนแรกหดตัวร้อยละ 20.7 แต่การส่งออกไปเวียดนามขยายตัวร้อยละ 29.2 (มีสัดส่วนร้อยละ 23.2) นอกจากนี้ การส่งออกอาหารทะเลกระป๋อง 7 เดือนแรกขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยส่งออกไปสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 16.5 และ 10.4 ตามลำดับ เป็นต้น รวมถึงการส่งออกผลไม้สด/แช่แข็งที่มีความนิยมสินค้าไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.9 สะท้อนการส่งออกสินค้าเกษตรยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลต่อการส่งออก เช่น ความต้องการสินค้า และคุณภาพสินค้า เป็นต้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าไลฟ์สไตล์หลายชนิดที่ขยายตัวได้ดี เช่น เครื่องสำอาง/ผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องรับวิทยุและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวร้อยละ 15.3 13.3 12.6 3.3 และ 1.3 ตามลำดับ

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับช่วงที่เหลือของปี 2562 คาดว่า ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น โดยเคลื่อนไหวในช่วง 30.0-31.0 บาท ต่อ ดอลลาร์ สรอ. โดยปัจจัยหลักที่อาจจจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ประกอบด้วย (1) การดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพิ่มเติมของประเทศสำคัญของโลก อย่าง สหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรป (2) แนวทางการออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ หรือ Brexit และ (3) ความขัดแย้งการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งต้องเร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำประกันความเสี่ยงค่าเงิน เพื่อรองรับผลกระทบจากการความผันผวนและค่าเงินที่อาจจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นในช่วงที่เหลือของปี 2562

…………………………………………………….