นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมกับกระทรวงอาหารและเกษตรแห่งสหพันธ์เยอรมนี (Germany’s Federal Ministry of Food and Agriculture : BMEL) ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างเยอรมัน-ไทย เพื่อส่งเสริมระบบการบริหารจัดการด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน ผ่านเครือข่ายนวัตกรรม ในปี พ.ศ. 2567 – 2569 มุ่งพัฒนาเกษตรกรไทยให้สามารถทำการเกษตรอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ใช้เทคโนโลยีทำการเกษตรอย่างยั่งยืน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดการอบรมหลักสูตร “ความรู้พื้นฐานเพื่อดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับผู้พัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตรสู่การยกระดับแปลงสินค้าเกษตรมูลค่าสูง (สินค้านำร่อง ทุเรียนและมะม่วง)” ให้แก่เจ้าหน้าที่กรมส่งเสริมการเกษตร จากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และเกษตรกรจากแปลงสินค้าเกษตรมูลค่าสูงในพื้นที่ 11 จังหวัด ที่เข้าร่วมโครงการในปี 2567 ประกอบด้วยเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง จำนวน 11 แปลง และเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน จำนวน 4 แปลง จำนวน 70 คน เข้ารับการอบรมฯ ณ ห้องบอลลูมซี โรงแรมมารวยการ์เด้น กรุงเทพฯ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การสร้างความตระหนักรู้ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิกาศ และการให้ความรู้แก่เกษตรกรลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตร ถือเป็นความท้าทายในการพัฒนาเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร เนื่องจากเกษตรกรทั่วโลกได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจากการที่โลกมีอุณหภูมิโลกสูงขึ้นแล้วกว่า 1 องศาเซลเซียส เกษตรกรไทยจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) และมีส่วนร่วมในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ (Mitigation) และเตรียมความพร้อมสู่ Net Zero Emission
ทั้งนี้ การอบรมหลักสูตรดังกล่าว จะช่วยให้นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรและเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วง และทุเรียนจากแปลงสินค้าเกษตรมูลค่าสูง มีความรู้ในการทำการเกษตรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เข้าใจการทำการเกษตรแบบคาร์บอนต่ำและกลไกคาร์บอนเครดิต สามารถจัดทำ Water footprint และ Carbon footprint จากการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อหาแนวทางการลดการใช้น้ำและลดการปลดปล่อยคาร์บอนในแต่ละขั้นตอนการผลิต มุ่งสู่การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง – คาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน รวมทั้งสามารถเข้าสู่มาตรฐานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ผ่านโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ สำหรับภาคเกษตร ตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Program หรือ T – VER) ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในตลาดไทยและตลาดโลก