“ยุติธรรม” ช่วยสางหนี้เป็นของขวัญปีใหม่ ภายใต้งาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2

วันที่ 21 ธันวาคม 2567 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 ณ อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (อาคารเอ) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดย กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี โดยมี นายปฏิมา จีระแพทย์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการด้านตลาดทุนและธุรกิจประกันภัยในคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา กล่าวขอบคุณสถาบันการเงิน นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวรายงาน และมี คณะผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงยุติธรรม สถาบันการเงิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่ และประชาชน เข้าร่วม อีกทั้ง ได้เชิญชวน กยศ. และ สถาบันการเงิน จำนวน 29 แห่ง เข้าร่วม และเชิญชวนลูกหนี้กว่า 54,626 ราย โดยแยกเป็นลูกหนี้ ก่อนฟ้องจำนวน 29,413 ราย และลูกหนี้ หลังศาลมีคำพิพากษา จำนวน 25,213 ราย รวมทุนทรัพย์กว่า 7,190 ล้านบาท เข้าร่วมแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งก่อนฟ้อง และหลังศาลมีคำพิพากษา พร้อมนิทรรศการสร้างการรับรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 20 บูธ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับพี่น้องชาวไทย

สำหรับการจัดงาน “มหกรรมแก้หนี้ สร้างวิถีแห่งความเป็นธรรม” ปีที่ 2 จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 21-22 ธันวาคม 2567ภายในงานมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การให้บริการไกล่เกลี่ยหนี้ โดยท่านจะได้รับโปรโมชั่นนอกจากจะไม่ถูกฟ้องคดี ไม่ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาดแล้ว ยังจะได้รับสิทธิพิเศษ ส่วนลดจบหนี้ ส่วนลดดอกเบี้ย ลดค่างวด และขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย การจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้คำปรึกษาทางกฎหมายหรือการเงินการแนะนำบริการโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” และหลังจากนั้นมีกำหนดการจัดมหกรรมแก้หนี้ฯ ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ตลอดปี พ.ศ. 2568

ปัญหาหนี้สินครัวเรือน ขณะนี้มีมูลค่ากว่า 16 ล้านล้านบาท หรือมากกว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะที่สัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) มีแนวโน้มสูงขึ้นรัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ โดยเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพื่อรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และมีนโยบายที่เร่งด่วนด้วยการผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้าน และรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะดำเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์

ปัญหาหนี้สินที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้เช่น กลุ่มหนี้ครัวเรือนโดยจะถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง และคดีล้มละลาย ปัจจุบันมีคดีแพ่ง และคดีล้มละลายมากกว่า 4.1 ล้านราย ทุนทรัพย์ 17.69 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น คดีแพ่งที่ยังไม่มีการบังคับคดี จำนวน 3.2 ล้านเรื่อง อยู่ระหว่างบังคับคดี จำนวน 8.1 แสนเรื่อง คดีล้มละลาย จำนวน 53,000 เรื่อง ซึ่งจะต้องบังคับยึด อายัด และขายทอดตลาด เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา

การแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยหนี้จากการกู้ยืม ต้องไม่ถูกกำหนดเป็นความผิดและมีโทษทางอาญา (ICCPR) และรัฐต้องมีหน้าที่คุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกละเมิด (Protect) สอดรับกับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนและหลักสิทธิมนุษยชน

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และกรมบังคับคดี จัดมหกรรมไกล่เกลี่ยนี้สินครัวเรือน ทั้ง 76 จังหวัด จำนวน 89 ครั้ง ดังนี้
* ชั้นก่อนฟ้องคดี ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกฟ้องคดีต่อศาล จำนวน 66,172 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 11,217.04 ล้านบาท
* ชั้นหลังศาลมีคำพิพากษา ช่วยเหลือลูกหนี้ไม่ให้ถูกยึดทรัพย์และอายัติทรัพย์ จำนวน 66,131 ราย ทุนทรัพย์ จำนวน 12,684.8 ล้านบาท

สำหรับหนี้ กยศ. คำนวณยอดหนี้ใหม่ 3.65 ล้านบัญชี เสร็จแล้วมีผู้กู้ 2.98 ล้านรายได้ประโยชน์ ยอดหนี้ลดลง 56,326 ล้านบาท ปลดภาระผู้ค้ำ 2.8 ล้านราย

ติดตามข่าวสารและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมบังคับคดี และสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามผ่าน สายด่วนยุติธรรม โทร. 1111 กด 77 และสายด่วนกรมบังคับคดี โทร. 1111 กด 79 ฟรีตลอด 24 ชั่วโมงหรือ โทร 0 2141 2773, 0 2141 2776, 0 2141 2777 และ 081 763 9156