“พิพัฒน์” รมว. แรงงาน มอบ “มารศรี” เลขาธิการ สปส. รุดตรวจสอบ พร้อมให้การช่วยเหลือลูกจ้างประสบเหตุถังแก๊สระเบิดโรงงานเหล็ก จังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 67 เวลาประมาณ 09.40 น. เกิดเหตุการณ์ถังแก๊สระเบิด และเกิดเพลิงไหม้โรงงานผลิตเหล็ก ของบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงานเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม แสดงความห่วงใยลูกจ้างที่ประสบเหตุ และมอบหมายให้ นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ตรวจสอบข้อเท็จจริง พร้อมให้การช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบเหตุ ตามสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน อย่างเร่งด่วน

นางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการด่วนให้ นางวัจนา เพ็ชรฉกรรจ์ ประกันสังคมจังหวัดระยอง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ณ สถานที่เกิดเหตุ บริษัทซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด ตั้งอยู่ในเขตประกอบการอุตสาหกรรม WSA ระยอง เลขที่ 170 หมู่ 3 ตำบลหนองละลอก อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ประกอบกิจการผลิตเหล็กแท่ง โดยการหล่อโลหะจากเศษเหล็ก ซึ่งจากเหตุระเบิดและไฟไหม้ดังกล่าว มีลูกจ้างได้รับบาดเจ็บจำนวน 8 ราย ประกอบด้วย ชาวต่างชาติ จำนวน 5 ราย และคนไทย 3 ราย ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท ซิน เคอ หยวน สตีล จำกัด บริษัท พีเคดี ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท บางกอกอินตัสเทรียล จำกัด และบริษัท สหเครน คอเปอร์เรชั่น จำกัด โดยหลักจากเกิดเหตุลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บทั้ง 8 ราย ได้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ดังนี้

1. โรงพยาบาลกรุงเทพระยอง จำนวน 4 ราย เนื่องจากมีอาการวิกฤต ต้องพักรักษาตัวในห้องไอ ซี ยู ประกอบด้วย 1) นาย CHEN, MING อายุ 37 ปี สัญชาติจีน 2) นาย BAI, XUEQIANG อายุ 42 ปี สัญชาติจีน 3) นายสามารถ โตทิม อายุ 44 ปี สัญชาติไทย และ 4) นายสมชาย สอนกลาง อายุ 46 ปี สัญชาติไทย

2. โรงพยาบาลบ้านค่าย จำนวน 2 ราย มีอาการบาดแผลไฟไหม้เล็กน้อย และได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ประกอบด้วย 1) นาย Phai Vanthin อายุ 22 ปี สัญชาติกัมพูชา และ 2) นาย Min Htet oo อายุ 30 ปี สัญชาติเมียนมา

3. บาดเจ็บเล็กน้อย ไม่ได้นำส่งโรงพยาบาล จำนวน 2 ราย ประกอบด้วย 1) นายกฤตยชญ์ ชาวราษฎร์ อายุ 53 ปี และ 2) นาย Aung Yekyaw สัญชาติเมียนมา อายุ 25 ปี

ในการนี้ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดระยอง ได้ดำเนินประสานให้การช่วยเหลือ พร้อมชี้แจงให้นายจ้างของลูกจ้างที่ประสบเหตุให้ยื่นแบบ (กท. 16) แจ้งการประสบอันตรายให้ลูกจ้างที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งลูกจ้างจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลกรณีประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานจากกองทุนเงินทดแทน เป็นค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริง เบื้องต้น 65,000 บาท ค่าทดแทนกรณีหยุดพักรักษาตัวร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 1 ปี และหากมีการสูญเสียสมรรถภาพของอวัยวะจะได้รับค่าทดแทนการสูญเสียสมรรถภาพ ร้อยละ 70 ของค่าจ้าง (ตามการประเมิน ของแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม)

สำนักงานประกันสังคม พร้อมให้การช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด เพราะเราคือหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิตของผู้ประกันตน นางมารศรี เลขาธิการ สปส. กล่าวในตอนท้าย