หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล ระดมสมองแก้ปัญหาและพัฒนาระบบดูแลสุขภาพแรงงานข้ามชาติและสาธารณสุขชายแดน เผย ไทยมีแรงงานต่างชาติมากกว่า 3 ล้านคน 74.5% เป็นชาวเมียนมา แลมีปัญหาเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ด้าน สวรส.พร้อมเดินหน้าตามแผนยุทธศาสตร์ไทย – WHO ผลักดันหลักประกันและการเข้าถึงระบบบริการ เพื่อความมั่นคงระบบสาธารณสุข และเป็นไปตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เปิดการประชุมวิชาการสุขภาพประชากรข้ามชาติ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นฐานสากล ประจำปี 2567 (Migrant Health Forum on International Migrants Day, 2024) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 18 ธันวาคม 2567 ที่ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก โรงพยาบาลแม่สอด ทั้งนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติและการย้ายถิ่นฐานของประชากรข้ามพรมแดนเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก เนื่องมาจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง รวมถึงภาวะสงคราม ในส่วนของประเทศไทย ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และ UNHCR พบว่า ปี 2567 มีแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานมากกว่า 3 ล้านคน 74.5% เป็นสัญชาติเมียนมา โดยทั้งตัวแรงงานและครอบครัวยังมีอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพ ส่งผลให้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ จึงต้องมีการพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพประชากรข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งนอกจากจะเป็นไปตามสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ยังส่งผลดีต่อความมั่นคงของระบบสุขภาพของประเทศ
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสาธารณสุขชายแดน เนื่องจากเป็นด่านหน้าในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ รวมทั้งยังมีบริบทที่แตกต่างจากพื้นที่ปกติ จากสภาพภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม การปฏิบัติงานมีลักษณะเฉพาะ จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน การจัดประชุมครั้งนี้ที่อำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นช่องทางผ่านเข้าออกประเทศไทยของชาวเมียนมามากที่สุด มีพรมแดนทั้งทางบกและทางน้ำยาวกว่า 100 กิโลเมตร จะทำให้หน่วยงานภาคีเครือข่ายสุขภาพประชากรข้ามชาติได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาสาธารณสุขพื้นที่ชายแดน การจัดการสุขภาพประชากรข้ามชาติทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ ช่วยเสริมพลังความร่วมมือทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนงานสาธารณสุขชายแดน และพัฒนาข้อเสนอเกี่ยวกับระบบสุขภาพประชากรข้ามชาติพื้นที่ชายแดนให้พร้อมรับมือปัญหา ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรด้านสาธารณสุข ส่งผลให้ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพและมีสุขภาพที่ดี เมื่อเจ็บป่วยได้รับการดูแลอย่างถูกต้องและเหมาะสม
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้ต่อหัวของประชากรไทย (GDP) ถึง 6.2% มีระบบประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว 2 ระบบคือ ประกันสังคม และประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนภาระในการให้บริการแรงงานต่างด้าวของสถานพยาบาลบางพื้นที่ พบผู้ป่วยนอกคิดเป็น 15% ส่วนผู้ป่วยที่ต้องนอนโรงพยาบาลคิดเป็น 27% และประเทศไทยต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลปีละหลายร้อยล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยจำเป็นต้องได้รับบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน เช่น การให้วัคซีน ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับชุมชนและคนรอบข้างด้วย หรือการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคมารักษาให้หายขาด เพื่อไม่ให้แพร่กระจายต่อ เป็นต้น ทั้งนี้ สวรส.โดยแผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ ภายใต้ยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและองค์การอนามัยโลก ค.ศ. 2022-2029 ได้ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก โรงพยาบาลแม่สอด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) จัดประชุมวิชาการฯ ระหว่างวันที่ 17-18 ธันวาคม 2567 มีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 300 คน สำหรับระยะถัดไป สวรส.ในฐานะแกนกลางการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ฯ จะเน้นการทำงานเชิงรุกให้บรรลุเป้าหมายการส่งเสริมสนับสนุนสิทธิและความเป็นธรรมของประชากรข้ามชาติ โดยผลักดันให้เกิดหลักประกันและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชากรข้ามชาติ
น
พ.พิทักษ์พงษ์ จันทร์แดง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก กล่าวว่า จังหวัดตากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ มีประชากรทั้งชาวไทย ไทยภูเขา และแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะแรงงานด้านเกษตรกรรม ปัญหาหลักของการเข้าถึงบริการสุขภาพแรงงานต่างชาติคือ การเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ไม่มีเอกสารยืนยัน ทำให้ไม่มีหลักประกันสุขภาพ โดยเฉพาะอำเภอแม่สอด ที่มีการเดินทางผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองของชาวต่างชาติประมาณ 1 ล้านคนต่อปี มีชาวเมียนมาและชนกลุ่มน้อยเข้ามาอาศัยนับแสนคน ซึ่งการประชุมครั้งมีประเด็นที่น่าสนใจ อาทิ สถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้อพยพระหว่างประเทศ: ระดับโลก ประเทศไทย และพื้นที่ชายแดน และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน, เงื่อนไขและปัญหาอุปสรรคที่ยังท้าทาย ทางรอด ทางออก กับการพัฒนาความร่วมมือของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ, สถานการณ์การจัดการปัญหาสุขภาพที่สำคัญในพื้นที่ชายแดน (เมียนมา ลาว และไทย), การพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในการจัดบริการสุขภาพประชากรข้ามชาติ พร้อมทั้งเปิดให้เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก
ผศ.(พิเศษ) นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด และผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนจังหวัดตาก กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่พิเศษ เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในประเทศ พัฒนาระบบบริการพื้นที่ชายแดนและพื้นที่พิเศษ พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีความรู้และทักษะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานพื้นที่ชายแดน ศึกษาวิจัยพัฒนางานสาธารณสุขชายแดน รวมถึงพัฒนาระบบข้อมูลสุขภาพและองค์ความรู้ร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งจากความร่วมมือภายใต้แผนงานสุขภาพประชากรข้ามชาติ นำมาสู่การดำเนินงานสำคัญของศูนย์เรียนรู้ฯ จังหวัดตาก คือ การจัดทำหลักสูตรเฉพาะของพื้นที่ เช่น ระบาดวิทยาในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา ระบบสาธารณสุขชายแดน การดูแลรักษาโรคเวชศาสตร์เขตร้อน อนามัยแม่และเด็กชายแดน การจัดการสิทธิและสถานะของประชากรในพื้นที่ชายแดน เป็นต้น โดยในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยพะเยา และสภากาชาดไทย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสุขภาพในการจัดบริการสุขภาพประชากรข้ามชาติด้วย