รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สั่งเดินหน้าพัฒนาสหกรณ์โคนม พร้อมปรับตัวให้ทันเปิดรับการค้าเสรี FTA ไทย-นิวซีแลนด์และออสเตรเลียต้นปี 68 เน้นการลดต้นทุนเลี้ยงโคนมเพื่อสู้ราคานมจากต่างประเทศ กรมส่งเสริมสหกรณ์รับลูกสนองนโยบายส่งเสริมสมาชิกโคนมใช้อาหารหยาบ พร้อมสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือให้สหกรณ์นำไปพัฒนาการผลิตและแปรรูปผลิตภัณฑ์นมให้หลากหลายตอบสนองความต้องการผู้บริโภคยุคปัจจุบัน
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมทั่วประเทศ ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ทำข้อตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ไทย–ออสเตรเลีย และไทย–นิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีผลเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 นี้ โดยประเทศไทยจะลดภาษีเป็น 0 % สำหรับการนำเข้านมดิบ นมผงขาดมันเนย และเครื่องดื่มประเภทนม/นม UHT จากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์อาจส่งผลทำให้สินค้านมจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยจำนวนมาก และส่งผลต่ออุตสาหกรรมนมในประเทศไทย และได้สั่งการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์เน้นย้ำให้สหกรณ์โคนมทุกแห่งเร่งปรับตัวและพัฒนาศักยภาพการดำเนินธุรกิจโคนม เพื่อรองรับการเปิดเสรีการค้า FTA ซึ่งสหกรณ์จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเปิดการค้าเสรี FTA นม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถใช้ประโยชน์จาก FTA เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและขยายตลาดส่งออกนมเพิ่มมากขึ้น
“สิ่งสำคัญคือสหกรณ์โคนมต้องส่งเสริมให้สมาชิกลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงโคนม เป็นต้นทุนสำคัญที่จะส่งผลต่อรายได้จากการเลี้ยงโคนม ซึ่งสหกรณ์ควรมีการส่งเสริมสมาชิกให้หันมาใช้อาหารหยาบเลี้ยงโคนมในปริมาณที่เหมาะสม ควบคู่กับการพัฒนาและปรับปรุงฟาร์มโคนมของสมาชิก มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการฟาร์มให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ปริมาณน้ำนมต่อตัวเพิ่มขึ้น และมีเนื้อนมในปริมาณที่มากพอสมควร เพื่อให้นมที่ได้นั้นมีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ปัจจุบันนับเป็นโอกาสอันดีที่มีเกษตรกรรุ่นใหม่สนใจเข้ามาสู่อาชีพการเลี้ยงโคนม สามารถใช้เทคโนโลยีด้านการผลิตและองค์ความรู้ในการเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหารสัตว์ การลดต้นทุนในฟาร์ม มาเลี้ยงโคนมจนสามารถรีดนมได้ 15 กก./ตัว/วัน สิ่งเหล่านี้ที่เราต้องพัฒนาและส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่เข้ามาสู่อาชีพการเลี้ยงโคนมเพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคนมและต่อยอดธุรกิจของสหกรณ์โคนมให้ก้าวหน้าจนสามารถสู้กับการเปิดการค้าเสรี FTA ได้ในอนาคต” นายวิศิษฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมสหกรณ์พร้อมให้การสนับสนุนสหกรณ์โคนมทุกแห่ง และได้จัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนาสหกรณ์อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อสนับสนุนเป็นทุนหมุนเวียนดำเนินธุรกิจให้กับสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ รวมทั้งจัดหาอุปกรณ์การตลาดและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์จำหน่ายสู่ตลาด โดยจะมุ่งส่งเสริมให้สมาชิกสหกรณ์โคนมได้เรียนรู้และนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาพัฒนาผลิตภัณฑ์นมของสหกรณ์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น สามารถผลิตสินค้านมรูปแบบใหม่ ๆ ออกมาจำหน่าย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในยุคปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยให้สหกรณ์โคนมสามารถยืนหยัดอยู่ได้เมื่อมีการเปิดเสรีการค้า FTA อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ต้นปี 2568 นี้เป็นต้นไป