รมว.“สุดาวรรณ”เผยผลงาน 90 วันตามนโยบายรัฐบาล

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีผลการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระยะเวลา 90 วัน ระหว่างวันที่ 12 กันยายน – 12 ธันวาคม 2567 โดยมีนโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับ วธ. 6 ด้าน ซึ่งมีผลสรุปดังนี้ 1.นโยบายที่จะพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์มุ่งสร้างความเข้าใจและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจและส่งเสริมสถาบันศาสนา โดยวธ.จัดกิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องใน “วันนวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2567 การออกแบบและก่อสร้างมณฑป พิธีเจริญพระพุทธมนต์ และริ้วขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ (พระเขี้ยวแก้ว) มาประดิษฐานเป็นการชั่วคราว ณ ประเทศไทย เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 2) พิธีถวายผ้ากฐินและผ้าป่าพัฒนาวัด จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 72 พรรษา รวมจำนวน 302 วัด และ3)โครงการเทศกาลและประเพณีทางศาสนา 5 ศาสนาทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม พราหมณ์ – ฮินดูและซิกข์

2.นโยบายเร่งด่วนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้าง ได้แก่ 1) การส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรี จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรี “4 วัด 1 วัง เมื่อครั้งต้นกรุงฯ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 17 พฤศจิกายน 2567 ณ โบราณสถานวัดไชยวัฒนาราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดพระราม และพระราชวังจันทรเกษม มีผู้เข้าร่วม 194,875 คน 2) การส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม ประเพณี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว : การจัดงานประเพณีลอยกระทง พุทธศักราช 2567 “ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” จัดงานที่ส่วนกลาง ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร และจัดงานในพื้นที่ 5 เมืองอัตลักษณ์ ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย ตาก สมุทรสงคราม และร้อยเอ็ดและพื้นที่ 8 เมืองน่าเที่ยว ได้แก่ กาญจนบุรี พระนครศรีอยุธยา ลำปาง นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ และภูเก็ต รวมถึงส่งเสริมการจัดงานสืบสานประเพณีลอยกระทงทุกจังหวัด ซึ่งภาพรวมทั้งประเทศมีผู้เข้าร่วม 6.6 ล้านคน สร้างมูลค่าใช้จ่าย 8,299 ล้านบาท

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า 3. นโยบายระยะกลางและระยะยาวในการสร้างโอกาสต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม โดยมุ่งยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) เพื่อส่งเสริม Soft Power ของประเทศ และมีการจัดกิจกรรม ได้แก่ 1) การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในพื้นที่ 4 ภูมิภาค ทำให้เกิดการจ้างงานแก่ศิลปิน ผู้ประกอบการด้านวัฒนธรรม และเครือข่ายวัฒนธรรม สร้างงานสร้างรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและงานบริการทางวัฒนธรรม และมีผู้เข้าร่วมงานทั้งหมดกว่า 380,000 คน สร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ทั่วประเทศกว่า 245 ล้านบาท 2) การยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 6 เทศกาล/ประเพณี ประกอบด้วยเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 39 จังหวัดเชียงใหม่ ประเพณีกำฟ้าไทยพวน จังหวัดแพร่ มหกรรมวัฒนธรรมสานสัมพันธ์อิ้วเมี่ยนโลก จังหวัดพะเยา เทศกาลลานตา ลันตา จังหวัดกระบี่ งานวิสาขปุรณมีบูชา สักการะมหาสถูปเจดีย์เขาคลังนอก จังหวัดเพชรบูรณ์และประเพณีบุญกระธูปออกพรรษา จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกว่า 200,000 คน สร้างการรับรู้ผ่านระบบออนไลน์กว่า 600,000 การเข้าถึง และสร้างรายได้หมุนเวียนทางเศรษฐกิจกว่า 152 ล้านบาท

3) การรับมอบโบราณวัตถุบ้านเชียงโดยสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทยได้มอบโบราณวัตถุบ้านเชียง 4 ชิ้น ที่มีอายุกว่า 3,500 ปี ประกอบด้วย ภาชนะดินเผา กำไลข้อมือ และลูกกลิ้งทรงกระบอกสองชิ้น 4) การส่งเสริมการผลิตภาพยนตร์ไทยและสื่อ เช่น โครงการสถาบันพัฒนาบุคลากรด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Content Thailand Academy) : การผลิตคอนเทนต์เพื่อส่งเสริม Soft Power มีผู้เข้าอบรม 569 คน การสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากรด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี แอนิเมชันไทย เข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ 12 งาน เป็นต้น

5) การส่งเสริมและเผยแพร่ค่านิยมและวัฒนธรรมความเป็นไทย : โครงการส่งเสริม Thai Cultural Content for Soft Power Presented by Moo Deng 6) การส่งเสริมการดำเนินงานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม : การจัดงานฉลองต้มยำกุ้งและเคบายาที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกทางวัฒนธรรมของไทยเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติจากยูเนสโก 7) มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Phuket 2025 8) การจัดแสดงแฟชั่นโชว์ พร้อมจำหน่ายสินค้าเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ผ้าไทยร่วมสมัย Contemporary Southern Batik 2024 9) การพัฒนาความร่วมมือและเชื่อมโยง Soft Power ด้านศิลปวัฒนธรรมกับกลุ่มประเทศอาเซียน+6 10) การขึ้นทะเบียนมรดกภาพยนตร์ของชาติ ประจำปี พ.ศ. 2567 จำนวน 10 เรื่อง

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวด้วยว่า 4.นโยบายระยะกลางและระยะยาวในการส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาคนไทยทุกช่วงวัย โดยมุ่งส่งเสริมการเกิดและเติบโตของเด็กทุกคนอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม ซึ่ง วธ.สนับสนุนการจัดงาน “มหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29” มีจำหน่ายหนังสือรวม 2 ล้านเล่ม จาก 286 สำนักพิมพ์ รวมกว่า 855 บูธ ตลอดการจัดงานมีคนไทยและต่างชาติเข้าร่วมงานกว่า 1.4 ล้านคน มีเงินสะพัดกว่า 438 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้มุ่งยกระดับระดับทักษะ ปลดล็อกศักยภาพของคนไทยเพื่อสร้างงานสร้างรายได้ โดยจัดโครงการสนับสนุนเสริมสร้างทักษะด้านศิลปะตามนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะ Soft Power การจัดงาน Thailand Friendly Design Expo 2024 : มหกรรมอารยสถาปัตย์ นวัตกรรมสุขภาพ และการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 8 และโครงการชาติพันธุ์บ้านฉัน โดยอบรมทักษะความรู้ในการผลิตสินค้าทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ

5.นโยบายระยะกลางและระยะยาวในการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของคนไทย และต่างชาติ ด้วยการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยให้เข้มแข็ง มีเสถียรภาพ มีนิติธรรม และความโปร่งใส โดยการผลักดันรัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และการพัฒนา Cloud First ผ่านการดำเนินการ ได้แก่ 1) การพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัลด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม เพื่อบริการประชาชนได้เข้าใช้บริการในแหล่งมรดกศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ไม่น้อยกว่า 120 แหล่ง 2) โครงการพัฒนาระบบศูนย์กลางข้อมูลสารสนเทศดิจิทัลด้านคุณธรรมมีฐานข้อมูลองค์กรคุณธรรมทั้งภาครัฐ เอกชน ข้อมูลวิทยากรส่งเสริมคุณธรรม รายงานสถานการณ์คุณธรรม ต้นทุนชีวิต ดัชนี ชี้วัดคุณธรรม สื่อดิจิทัลด้านคุณธรรม 3) การผลักดันกฎหมายภาพยนตร์และเกม ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พ.ศ. … และร่างพระราชบัญญัติเกม พ.ศ. … เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์และเกมของไทยไปสู่ระดับนานาชาติ 4) การผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. … และการสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลโต๊ะบาหลิว ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ทำให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” มีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มชาติพันธุ์เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมและ 6.นโยบายระยะกลางและระยะยาวด้านการต่างประเทศ ซึ่ง วธ.มุ่งเดินหน้าสานต่อนโยบายการทูต เศรษฐกิจเชิงรุก และการสร้าง Soft Power โดยได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนที่กำกับดูแลงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ ครั้งที่ 11 (ASEAN Ministers Responsible for Culture and Arts: 11th AMCA) ซึ่ง วธ.มุ่งเน้นส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนในการยกระดับการดำเนินงานด้านวัฒนธรรมและศิลปะ รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นให้กับอาเซียนเพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งและครอบคลุมทุกภาคส่วนในภูมิภาค

“ผลงาน 90 วัน ที่ วธ. มุ่งขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐบาลเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายเพราะได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายศิลปินและเครือข่ายวัฒนธรรม ดิฉันขอขอบคุณทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก วธ.ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการอนุรักษ์ สืบสาน รักษาและต่อยอดงานศิลปวัฒนธรรมของชาติเพื่อให้คงอยู่อย่างยั่งยืน และส่งเสริม Soft Power ด้านต่างๆ ของไทยให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายสู่นานาชาติ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้แก่คนไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจชาติและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศไทยในเวทีโลก” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว