เปิดเวที “หยุดฆาตกร ก่อนเทศกาล” ฟื้นแคมเปญให้เหล้าเท่ากับแช่ง ขยายผลงานเฉลิมฉลองอื่นๆ

เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมรณรงค์ เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2568 และ เวทีเสวนา “หยุดฆาตกร(ดื่มแล้วขับ) ก่อนเทศกาล(ปีใหม่)” โดยนางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 รายงานว่าคนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงเหลือ 28 % โดยผู้ชายดื่ม 46.4% ผู้หญิงดื่ม 10.8 % มีแนวโน้มลดลงจากปี 2560 ที่พบการดื่มอยู่ที่ 28.40% อย่างไรก็ตาม รายงานระบุคนอายุ 15 ปีขึ้นไป 57 ล้านคนดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมาประมาณ 5.73 ล้านคน หรือ 10.05% แต่ถือว่าค่อยๆ ลดลงจาก 13.95% ในปี 2557 มาเป็น 11.9% ในปี 2560 ถือเป็นแนวโน้มที่ดี แต่ถึงอย่างนั้นยังเป็นสาเหตุสำคัญที่สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินโดยเฉพาะการดื่มแล้วขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน โดยช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 มีผู้เสียชีวิต 34.05% ในจำนวนนี้เป็นคนอายุต่ำกว่า 20 ปี 16.75% และยังพบว่า 1 ใน 4 ของความรุนแรงในครอบครัวมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยร่วม ที่น่าห่วงคือ 75% ถูกกระทำซ้ำ

นางสาวรุ่งอรุณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรารณรงค์ให้เหล้าเท่ากับแช่ง เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อทั้งสุขภาพ สังคม ทั้งทางตรงทางอ้อม สำหรับเทศกาลปีใหม่ ปี 2568 สสส. ยังคงต่อยอดเรื่องการ “ให้เหล้า เท่ากับแช่ง” พร้อมขยายค่านิยมการไม่ให้ ไม่รับแอลกอฮอล์ ไปสู่งานเฉลิมฉลองอื่นๆ ด้วย อาทิ ฉลองตำแหน่งใหม่ เปิดร้านใหม่ วันเกิด และอื่นๆ เพื่อให้งานเฉลิมฉลองมีแต่เรื่องราวดีๆ โดยมีการโฆษณาทางออนไลน์ เกมโชว์-ให้เหล้าเท่ากับแช่ง เนื้อหาแสดงถึง การนำรูปแบบเกมโชว์ท้าทายความสามารถในการตอบคำถามว่า “คนไทยส่วนใหญ่จะให้อะไรเป็นของขวัญในงานฉลองต่างๆ ทั้งนี้ สสส. และภาคีเครือข่ายหวังว่าทุกคนจะมีช่วงเวลาดีในเทศกาลปีใหม่ จำนวนอุบัติเหตุลดลงหรือไม่มากไปกว่านี้

นายธัชวุฒิ จาดบันดิสถ์ นักวิจัยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ปัญหาอุบัติเหตุดื่มแล้วขับของไทยมีแนวโน้มลดลงเล็กน้อย แต่ยังมีความอ่อนไหวสูงต่อปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน เช่น กรณี รัฐบาลมีนโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แนวโน้มอุบัติเหตุพร้อมจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ มีรายงานข่าวอุบัติเหตุจากดื่มแล้วขับต่อเนื่องทุกวัน ที่สำคัญคือมีคนเสียชีวิตเกือบทุกครั้ง ส่วนใหญ่เป็นเหยื่อของคนที่ดื่มแล้วขับ บางรายบาดเจ็บ พิการจนไม่สามารถมีชีวิตกลับมาได้ดังเดิม ผลที่เกิดขึ้นมาจากมาตรการควบคุมไม่ให้คนดื่มแล้วขับยังไม่ได้ผล ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นมาตรการต้นน้ำควบคุมสถานบันเทิง ผับบาร์ ที่เป็นเพียงการขอความร่วมมือ มาตรการกลางน้ำที่เครื่องมือ อุปกรณ์ กำลังพล งบประมาณ มีข้อจำกัด และ มาตรการปลายน้ำ คือบทลงโทษ การตัดสินคดี ที่มองว่ามนุษย์ผิดพลาดได้ มองคดีเมาขับ ไม่ใช่เรื่องเจตนา จึงลงโทษเพียงการปรับและรอลงอาญาเท่านั้น ตนเชื่อว่าเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ มาตรการที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับความรุนแรงของปัญหาได้ แต่ถ้าขยับมาตรการเพิ่มขึ้นอีก 1 ระดับ เช่น หากปีใหม่ ศาลสั่งลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับ ติดคุกสถานเดียว ไม่มีการรอลงอาญา เชื่อว่าจะทำให้เกิดความเกรงกลัว ไม่กล้ากระทำผิดดื่มแล้วขับ

พระครูสุราษฎร์ เตชวโร กล่าวว่า ช่วงก่อนบวช ตนไปร่วมงานเลี้ยงใกล้กับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตรวจวัดปริมาณได้ 120 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ขากลับขับรถออกจากซอย ยูเทิร์นประมาณ 200 เมตร ขับผ่านมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง แล้วชนเข้ากับแบริเออร์ ทำให้รถเสียหลักพลิกข้ามเกาะกลางถนนไปอีกฝั่งก่อนจะชนนักศึกษา 2 คน เสียชีวิต ทำให้รู้สึกผิดและเสียใจมาก จึงสารภาพผิดเยียวยาทางแพ่งให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิตประมาณกว่า 2 ล้านบาท และทางอาญาศาลพิพากษาจำคุก รอลงอาญา 2 ปี จากนั้นตนก็ตระเวนไหว้พระ รดน้ำมนต์ แก้กรรม ทำทุกอย่างแต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร คิดตลอดว่าหากต้องติดคุกเรายังออกมามีชีวิตต่อไปได้ แต่ทั้งสองที่สูญเสียไป เขากลับมาไม่ได้อีกแล้ว ครอบครัวย่อมเจ็บปวดกว่าเรามากมายนัก จึงตัดสินใจบวชเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิต และตั้งใจจะบวชไปตลอดชีวิต ทุกวันนี้จะเดินสายเป็นวิทยากรเล่าความผิดพลาดของตัวเองเพื่อเตือนใจให้ดื่มไม่ขับ ซึ่งดีที่สุดคือไม่ดื่ม และหวังไว้ว่าอยากมีโอกาสขออโหสิกรรมกับครอบครัวทั้งสองซักครั้ง

“การดื่มเหล้าเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ทำให้ทุกวันที่อาตมาไปแสดงธรรม หรือพูดกับใครจะพูดเสมอว่า การดื่มเหล้าทำให้เราขาดสติ สติพร่อง สติไม่สมบูรณ์ เกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดได้ อย่างศีล 5 ข้อ นั้น ข้อที่งดเว้นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นั้นสำคัญที่สุด เพราะทำให้ขาดสติ และจะทำให้เราทำผิดศีลข้ออื่นๆ ได้ แล้วความรู้สึกผิด หากมีคนบาดเจ็บ เสียชีวิต หรือพิการ การใช้เงินเยียว หรือรับผิดทางกฎหมายได้ แต่กฎแห่งกรรมที่เกิดขึ้นไม่มีวันหายไป แม้แต่ตัวเราตายไปแล้วยังติดตามไปถึงชาติหน้า” พระครูสุราษฎร์ กล่าว

​ด้านนายธีระ วัชรปราณี ผู้อำนวยการเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแก้ไขพรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ให้มีการเพิ่มโทษผู้ที่ขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี และขายให้คนเมา มีโทษสูงกว่าเดิมถึง 5 เท่า และผู้ที่เป็นเหยื่อจากคนเมานั้น สามารถฟ้องผิดทางแพ่งกับผู้ที่ขายให้เด็กหรือคนเมาที่ก่อเหตุได้ด้วย เป็นการเพิ่มความรับผิดของผู้ขาย และเป็นความก้าวหน้าของกฏหมายเหมือนกับประเทศที่พัฒนาแล้ว คาดดว่ากฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช่ในปีหน้า อย่างไรก็ตามตนเสนอว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับเพื่อให้ปัญหาดื่มแล้วขับจนเกิดอุบัติเหตุเจ็บ ตายลดลง เช่น การแก้ไข พรบ. จราจร เพิ่มโทษเพื่อตัดวงจรคนทำผิดรอลงอาญา แก้ไข พรบ.สถานบริการ ให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เป็นต้น