วันที่ 9 – 11 ธันวาคม 2567 นางอาภาพร สินธุสาร ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามที่ท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ โดยสั่งการทุกหน่วยงานในสังกัดเร่งให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ท่านนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ จึงนำหน่วยปฏิบัติการ “ผู้พันวิทย์ อว.“ ลงพื้นที่จังหวัดสงขลาด้วยตนเอง เพื่อสำรวจพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย และประเมินสถานการณ์รับมือให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ พบว่า ในสถานการณ์อุทกภัยมีปัญหาเรื่องน้ำดื่มที่ไม่สะอาดและมีการปนเปื้อน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดต่อทางเดินอาหาร โรคจากสารเคมีและสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนมากับน้ำนั้น
นางอาภาพร ผู้อำนวยการสถาบันฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิทย์ฯ บริการ ได้รับทราบข้อมูลจากเทศบาลนครหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พบว่ามีพื้นที่ที่มีความจำเป็นต้องแก้ปัญหาคุณภาพน้ำดื่มอย่างเร่งด่วนหลังจากประสบอุทกภัย จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ โรงรียนในเขตเทศบาล (โรงเรียนเทศบาล 2,3,4,5) และชุมชนชุมชนศาลาลุงทอง ดังนั้นกรมวิทย์ฯ บริการ จึงเร่งส่งนักวิทยาศาสตร์ในหน่วยปฏิบัติการ “ผู้พันวิทย์ อว.” ลงไปติดตั้งเครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดซึ่งเป็นผลงานวิจัยและพัฒนาของสถาบันฯ ร่วมกับกรมอนามัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม นักเรียน ครู และประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวให้ทันต่อสถานการณ์และมีประสิทธิภาพอย่างดีที่สุด
สำหรับเครื่องกรองน้ำดื่มของกรมวิทย์ฯ บริการ ได้มีการพัฒนาให้สามารถกรองสนิมเหล็ก ตะกอน กลิ่น คลอรีน หินปูนหรือความกระด้างในน้ำที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคได้ โดยผ่านท่อกรองบรรจุสารกรองสนิมเหล็ก ท่อกรองบรรจุถ่านกัมมันต์ ท่อกรองบรรจุเรซิน แล้วผ่านเข้าสู่ระบบกรองใสและระบบฆ่าเชื้อโรคด้วยแสงยูวี ผลิตออกมาเป็นน้ำสะอาดและปลอดภัย ซึ่งเครื่องกรองน้ำนี้ สามารถกรองน้ำได้ถึง 500 ลิตรต่อชั่วโมง เป็นเครื่องกรองน้ำคุณภาพดี ประสิทธิภาพสูง
โดย กรมวิทย์ฯ บริการ อว. จะดำเนินการวางแผนร่วมกับเทศบาลนครหาดใหญ่และหน่วยงานทุกภาคส่วน เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเครื่องกรองน้ำดื่มสะอาดให้ครอบคลุมพื้นที่ของเทศบาลนครหาดใหญ่ เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีระบบน้ำดื่มคุณภาพสะอาดปลอดภัย ตามปณิธานกรมวิทย์ฯ บริการ อว.ที่ว่า “เรานำวิทยาศาสตร์ สู่การดูแลประชาชน” อย่างยั่งยืนตลอดไป