ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย และเจ้าหน้าที่ สคทช. เข้าร่วมการเสวนาเรื่อง Action Agenda on Tenure security as an enabler of land restoration and sustainable agrifood system ในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 16 (UNCCD COP 16) ณ Boulevard Hall Parking กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจัดขึ้นภายใต้ Action Agenda หัวข้อ Governance Day ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อนำเสนอกรณีตัวอย่างในด้านธรรมาภิบาลที่ดินที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดิน (land tenure) ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน (Land Degradation Neutrality: LDN) เนื่องจากการความมั่นคงและการเข้าถึงในสิทธิการถือครองที่ดินอย่างเท่าเทียมเป็นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน อันจะนำไปสู่ความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านอาหาร ด้านเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน
การเสวนาประกอบด้วย 2 หัวข้อสำคัญ คือ การปฏิบัติที่ดินและบทเรียนในการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการถือครองที่ดิน (Good practices and lessons learnt to advance land tenure policies) โดยผู้แทนประเทศยูกันดา บราซิล คาเมรูน และจอร์แดน และหัวข้อความริเริ่มร่วมระหว่าง UNCCD และ FAO: การหารือระดับประเทศในการบูรณาการการถือครองที่ดินเข้าสู่การฟื้นฟูดิน (UNCCD-FAO Joint Initiative: national consultations on integrating tenure into land restoration) โดยผู้แทนประเทศคาซัคสถาน เซเนกัล เคนยา โมร็อกโก และศรีลังกา ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาเน้นย้ำความสำคัญของความชัดเจนในด้านการถือครองที่ดินในการช่วยสนับสนุนเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร การแก้ปัญหาและฟื้นฟูดินเสื่อมโทรม และการมุ่งบรรลุเป้าหมาย LDN เนื่องจากความมั่นคงและเท่าเทียมในด้านการถือครองที่ดินและการมีเอกสารอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ทราบได้ว่าใครสามารถใช้ที่ดินได้ ใช้อย่างไร และนานเท่าไหร่ ทำให้เกิดการลงทุนในการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน โดยประเด็นนี้มีความสำคัญเนื่องจากข้อมูลจาก FAO พบว่าพื้นที่กว่า 1,680 ล้านเฮกตาร์ เสื่อมโทรมลงจากกิจกรรมของมนุษย์ และกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่เสื่อมโทรมดังกล่าวเกิดขึ้นในที่ดินเกษตรกรรมที่จะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร อย่างไรก็ดี การประเมินโดย FAO พบว่าประชากรที่มีเอกสารการถือครองที่ดินถูกต้องตามกฎหมายมีจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 50 ในประเทศต่าง ๆ ใน 21 ประเทศจาก 33 ประเทศที่มีการประเมิน ขณะที่เกษตรกรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 84) ถือครองที่ดินน้อยกว่า 2 เฮกตาร์ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 ของพื้นที่เกษตรกรรมทั้งหมดของโลก ขณะที่เกษตรกรร้อยละ 1 เป็นผู้ถือครองที่ดินกว่าร้อยละ 70 ของโลก ในการนี้ จะเห็นว่าประเด็นการกระจายการถือครองที่ดินเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ สคทช. ที่ไม่เพียงจะให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน โดยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยขน์ที่ดินถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปสู่การส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต และเกิดประโยชน์ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เนื่องจากความมั่นคงในการถือครองที่ดินจะช่วยทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศอีกด้วย