NSM ร่วมด้วย ภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่จุดประกายความรู้สู่เส้นทางนักบรรพชีวินวิทยา ในงานประชุมบรรพชีวินวิทยาสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 2

7 ธันวาคม 2567 / นายสุวรงค์ วงษ์ศิริ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดงานประชุมบรรพชีวินวิทยาสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 2 (The 2nd Paleo Youth Conference) โดยมี รศ.ดร. มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พร้อมด้วย ดร.นพรัตน์ เทพเทพา ผู้อำนวยการสำนักวิชาการธรรมชาติวิทยา NSM นายปรีชา สายทอง ผู้อำนวยการกองทรัพยากรแร่ กรมทรัพยากรธรณีและตัวแทนสมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย และคุณวรรธนสกล รักปทุม ผู้บริหารบริษัท เอ็ดดูโก แพลนเน็ท ร่วมพิธีเปิดฯ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เยาวชนและนักวิจัยได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ผลงานด้านวิชาการบรรพชีวินวิทยา พร้อมทั้งจุดประกายความสนใจในด้านการศึกษาบรรพชีวินวิทยาในอนาคต และสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งระหว่างเยาวชน นักวิจัย และผู้สนใจด้านบรรพชีวินวิทยาในประเทศไทยต่อไป ณ ห้องประชุมแสงเดือน-แสงเทียน พิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

นายสุวรงค์ กล่าวว่า “บรรพชีวินวิทยาเป็นศาสตร์ที่เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสังคมไทย เนื่องจากการศึกษาวิจัยในสาขานี้ของประเทศไทยได้ก้าวหน้าอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการสำรวจและค้นพบแหล่งซากดึกดำบรรพ์อย่างกว้างขวางทั่วประเทศ แต่ยังมีบุคลากรเฉพาะทางในด้านนี้จำนวนจำกัด และพื้นที่หรือเวทีสำหรับแนะแนวการศึกษายังมีน้อย ดังนั้น NSM ร่วมด้วย ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สมาคมธรณีวิทยาแห่งประเทศไทย บริษัท เอ็ดดูโก แพลนเน็ท จำกัด และ Project Thaitan โดยสมาคมเนชั่นแนลจีโอกราฟิก จึงผนึกกำลังร่วมกันจัดงานประชุมบรรพชีวินวิทยาสำหรับเยาวชน ครั้งที่ 2 (The 2nd Paleo Youth Conference) ขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับเยาวชนและนักวิจัยที่สนใจงานด้านวิชาการบรรพชีวินวิทยาไทย ได้พบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ และสะท้อนมุมมองร่วมกัน โดยครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานฯ ทั้งสิ้น 169 คน ซึ่งภายในงานมีกิจกรรมมากมาย ประกอบด้วย การประชุมวิชาการ   เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานด้านวิชาการบรรพชีวินวิทยาไทย การเสวนาด้านบรรพชีวินวิทยาเพื่อต่อยอด  แนะแนววิชาชีพสายสะเต็มศึกษา กิจกรรม Workshop คอลเลคชันบรรพชีวิน และกิจกรรมการนำเสนอผลงานรูปแบบปากเปล่า (Oral Presentation) ถือเป็นงานที่จะช่วยจุดประกายความสนใจด้านการศึกษาบรรพชีวินวิทยาในประเทศไทย พร้อมสร้างเครือข่ายเยาวชน นักวิจัย และผู้สนใจในวงการบรรพชีวินไทยต่อไปในอนาคต”