กรมส่งเสริมการเกษตร ชวนคนเกษตรรุ่นใหม่ สู้โลกร้อนด้วยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นแล้วกว่า 1 องศาเซลเซียส ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับต้น ๆ ของโลกและส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรคนเกษตรรุ่นใหม่ จึงต้องช่วยกันพัฒนาการเกษตรไทยให้ยั่งยืนและช่วยประชาคมโลกควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ด้วยการทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตรที่เป็นสาเหตุของการเกิดโลกร้อนได้อย่างยั่งยืน

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวถึง “นโยบายของรัฐต่อการส่งเสริมการเกษตร การทำเกษตรปลอดภัยใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ในงานเสวนาวิชาการ (The 21st KU KPS National Conference) ว่ากรมส่งเสริมการเกษตรมุ่งสู่การส่งเสริมการเกษตรให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาทำนาปรังแบบเปียกสลับแห้ง นอกจากจะช่วยลดการใช้น้ำในการทำนายังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำการเกษตร (Mitigation) จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2562 แหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคเกษตร 57 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จะพบว่า มาจากการปลูกข้าวมากที่สุด 29 ล้านตันฯ (ร้อยละ 51) รองลงมาคือ การใส่ปุ๋ยและปูน 13 ล้านตันฯ (ร้อยละ 22) การหมักในระบบย่อยอาหารสัตว์ 11 ล้านตันฯ (ร้อยละ 19) การจัดการมูลสัตว์ 3 ล้านตัน (ร้อยละ 6) และการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร 1 ล้านตัน (ร้อยละ 2) ดังนั้น การทำนาแบบเปียกสลับแห้งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำนาแบบปกติเฉลี่ยร้อยละ 45 และการใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดินจะลดก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ที่เกิดจากการใส่ปุ๋ยยูเรียที่มากเกินกว่าที่พืชต้องการ และการใช้จุลินทรีย์ย่อยสลายฟางข้าวทดแทนการเผา ช่วยลดก๊าซเรือนกระจกจากการเผา ลดฝุ่น PM2.5 ช่วยให้อากาศสะอาด

การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการทำการเกษตรเชิงฟื้นฟู (Climate Smart & Regenerative Agriculture) เช่น การเลือกใช้พันธุ์พืชทนแล้ง การจัดการแหล่งน้ำในไร่นาให้เหมาะสม การเตรียมดินโดยเก็บกักคาร์บอนในดินให้มากที่สุด เช่น การปลูกพืชคลุมดินเพื่อรักษาความชื้นในดิน การจัดการดินโดยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน เช่น การปลูกพืชตระกูลถั่ว การปลูกพืชหมุนเวียน

การส่งเสริมให้เกษตรกรนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร (Labor Intensive to Science Technology Intensive) เช่น การใช้ข้อมูลแนวโน้มสภาพอากาศและปริมาณน้ำ เพื่อการวางแผนการเพาะปลูกที่ลดความสูญเสีย การนำเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่มาใช้เพิ่มผลิตภาพการผลิต การปรับผังแปลงนาให้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และปัจจัยการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด (กำไรสุทธิ)

การส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการทำการเกษตรเชิงเดี่ยวไปสู่การทำการเกษตรแบบผสมผสานแบบแม่นยำ (Single Crop Patterns to Integrate Precision Farming) เช่น การทำการเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกไม้ผล-ไม้ยืนต้นช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศ (Carbon Sink) ช่วยลดความเสี่ยงจากการทำการเกษตรภายใต้สภาพอากาศที่แปรปรวนและช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ตลอดทั้งปี

นางสาวภาวินี แม้นทิม เจ้าของสวนไผ่คุณน้อย ผู้ร่วมเสวนาวิชาการในประเด็นการใช้ประโยชน์จากป่าไผ่เพื่อฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงผลผลิตทางการเกษตร กล่าวว่า ทางสวนไผ่คุณน้อยอยู่ที่กาญจนบุรีซึ่งสภาพอากาศมีอุณหภูมิสูง จึงร่วมมือกับภาคการศึกษาและหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์และคัดเลือกพันธุ์พืชที่จะช่วยลดอุณหภูมิในพื้นที่ทำเกษตร จนได้มาปลูกไผ่ล้อมพื้นที่เกษตร ซึ่งไผ่เป็นพืชโตเร็วมีคุณสมบัติช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยเพิ่มความชื้นและลดอุณหภูมิในแปลงปลูก ใบไผ่ที่ร่วงลงมาบนดินยังเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีให้แก่ดิน ช่วยกันลมพายุให้แปลงปลูกได้อีกด้วย นอกจากนั้นการปลูกไผ่ 100 ต้นต่อไร่ เมื่อต้นไผ่อายุ 3 ปี จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้ถึง 1 ตัน (เทียบกับต้นไม้ประเภทอื่นที่ต้องใช้เวลาถึง 7 ปี) และนอกจากผลที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นโมเดลสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกไผ่ และสร้างมูลค่าเพิ่มการแปรรูปเป็นชาใบไผ่ การผลิตจุลินทรีย์ที่ได้จากลำไผ่ และการทำไบโอชาร์โดยการนำไผ่มาเผาในเตาเผาถ่านด้วยอุณหภูมิ 1,000 องศาเซลเซียส

ดร.บัณฑูร พานแก้ว นักถ่ายภาพสารคดีและสื่อสารสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมเสวนาวิชาการในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่การเปลี่ยนฉับพลันทางความยั่งยืน กล่าวว่า ปัจจุบันทุกคนรู้สึกร้อน และก็รู้ว่าโลกร้อนขึ้น แต่สิ่งเดียวที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อน คือ ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน หากวันนี้เรายังไม่ปรับตัว เราจะถูกอำนาจต่าง ๆ เข้ามากำกับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability Disruption) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การทำเกษตรที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสินค้าเกษตรก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากสากล และถูกปฏิเสธทางการตลาด ท้ายที่สุดจึงต้องร่วมมือกันปรับตัวให้เกิดความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ผู้ประสานงานเครือข่าย Thai Climate Justice for All (TCJA) ผู้ร่วมเสวนาวิชาการในประเด็นอาหารและเกษตร ผลกระทบและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า เกษตรกรจะเป็นกลุ่มแรกที่จะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เพราะการเกษตรยังต้องอาศัยน้ำฝน เมื่อโลกร้อนผลผลิตทางการเกษตรก็ลดลง การแก้ปัญหาจึงต้องเริ่มที่ตัวเรา ลดการใช้ทรัพยากรและใช้เท่าที่จำเป็น

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมมือกันทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนเรื่องการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่มนุษย์จะต้องใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน การผลิตที่เหมาะสมอย่างยั่งยืนจะทำให้ภาคการเกษตรไทยได้รับการยอมรับจากสากล และทำให้ชีวิตบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงของโลกได้