กรมวิทย์ฯบริการ อว. เปิดตัว “สถาบันนวัตกรรมหุ่นยนต์และยานยนต์อัตโนมัติ” นำประเทศไทยสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาค

7 ธันวาคม 2567 นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตามนโยบายท่านรัฐมนตรีศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในเรื่อง “อว. For EV” ในการเดินหน้าพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และ “อว” For AI” ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้สามารถใช้งานได้จริงนั้น ทั้งสองนโยบายสำคัญนี้เป็นพื้นฐานแห่งอุตสาหกรรมการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต หรือ Future Mobility ที่ต้องพัฒนายานยนต์เชื่อมต่อและระบบขับขี่อัตโนมัติ (Connected and Automated Vehicles: CAV) ให้มีคุณภาพและมาตรฐาน มีความเที่ยงตรงและแม่นยำสูงมากเพื่อให้เกิดความความปลอดภัยในการใช้งาน ซึ่งการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้นำเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติมาใช้อย่างแพร่หลาย จะช่วยลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต อันเกิดมาจากอุบัติเหตุทางถนน ที่เป็นปัญหาใหญ่ทางด้านสังคมและสาธารณสุขของประเทศไทย โดยที่เทคโนโลยีเหล่านี้ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นพัฒนา จึงนับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะริเริ่มให้มีการพัฒนา วิจัย และทดสอบเทคโนโลยีหุ่นยนต์เคลื่อนที่และยานยนต์อัจฉริยะในประเทศอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการพัฒนาและยกระดับประเทศทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไปสู่การพัฒนาระบบเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน

นายแพทย์รุ่งเรือง กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิรูปและพัฒนาระบบราชการให้มีความทันสมัยตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ประเทศ และที่สำคัญเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับโลกแห่งอนาคต กรมวิทย์ฯบริการ อว. ได้จัดตั้ง “สถาบันนวัตกรรมหุ่นยนต์และยานยนต์อัตโนมัติ” เป็นหน่วยงานระดับกองในกรมวิทย์ฯ บริการ ภายใต้ความร่วมมือมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์บริการและกรมวิทยาศาสตร์บริการ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เสริมจุดแข็งและลดจุดอ่อนที่อาจเกิดจากระบบราชการ

สถาบันนวัตกรรมหุ่นยนต์และยานยนต์อัตโนมัติ ทำหน้าที่ด้านวิจัยนวัตกรรม และเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในการตรวจสอบรับรองคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ มุ่งเน้นทางด้านการ วิจัยพัฒนา วิธีทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ยานยนต์เชื่อมต่อและระบบขับขี่อัตโนมัติ โดยที่สถาบันฯ ยังให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่าย และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในด้านยานยนต์เชื่อมต่อและระบบขับขี่อัจฉริยะ (Intelligent and Connected Vehicle: ICV) ให้กับประเทศไทยอีกด้วย โดยจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อ ผู้ประกอบการ องค์กร บริษัทสตาร์ทอัพ ของประเทศไทยและองค์กรและบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศ กับหน่วยงานราชการและสถาบันการอุดมศึกษาต่างๆ ของไทยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยียานยนต์แห่งอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) สถาบันยานยนต์ (สยย.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) และมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย มุ่งเป้าที่จะเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นฐานการการผลิตยานยนต์สมัยใหม่และเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future mobility) ของ ASEAN ต่อไป

ที่ผ่านมา กรมวิทย์ฯบริการ ได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านหุ่นยนต์และยานยนต์อัตโนมัติ ที่โดดเด่นและนำไปใช้งานจริง มากกว่า 20 ปี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ อาทิเช่น รถยนต์ เรืออัตโนมัติ หรือเรือหุ่นยนต์ สำหรับกู้ภัย การสำรวจทางน้ำซึ่งมีบทบาทสำคัญในการใช้เก็บข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในงานบริหารจัดการระบายน้ำในช่วงวิกฤติมหาอุทกภัยของชาติ และ การพัฒนาระบบหุ่นยนต์เคลื่อนที่แบบอัตโนมัติและระบบหุ่นยนต์บังคับจากระยะไกลในการสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในวิกฤตการระบาดรุนแรงของเชื้อไวรัส โควิด-19 ปัจจุบันได้ลงทุนสร้างสนามทดสอบยานยนต์เชื่อมต่อและขับขี่อัตโนมัติ (CAV Proving Ground) และเครื่องมือทดสอบที่เกี่ยวข้อง ในพี้นที่ EECi วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง มูลค่ากว่า 400 ล้านบาท เป็นสนามทดสอบระบบอัตโนมัติระดับ SAE AV Level 3-5 รองรับการทดสอบผลิตภัณฑ์ เสริมความปลอดภัยแบบ Advance Driver Assistance System : ADAS ในยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ โดยสามารถใช้ในการทดสอบตามข้อกำหนดหรือมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เช่น ADAS EURO NCAP และตามมาตรฐาน ISO 22737 (Low speed autonomous driving), UNECE R157 (automated lane keeping), UNECE R152 (AEB) และกำลังขยายการลงทุนด้านอุปกรณ์การเชื่อมต่อ 5G Private Network เพื่อการทดสอบด้าน Connectivity อย่างเต็มรูปแบบ ที่สามารถจำลองสถานการณ์ และสภาพแวดล้อมการเชื่อมในทุกรูปแบบ โดยสนาม CAV Proving Ground จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการทดสอบ ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติจากต่างประเทศก่อนที่จะสามารถนำรถมาทดสอบบนถนนจริงของประเทศไทย รวมไปถึงการศึกษา วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติขั้นสูงในประเทศไทย นอกจากนี้ สถาบันฯ จะเป็นกลไกสำคัญในการลดการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร เพราะมีการพัฒนาและตรวจสอบระบบยานยนต์อัตโนมัติที่ช่วยในการเคลื่อนตัวและเบรค ทำให้ระบบรถยนต์ในประเทศไทยมีสมรรถนะที่ดีขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ดังเช่นในต่างประเทศ