วันที่ 6 ธันวาคม 2567 เวลา 14.00 น. ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่บ้านเขาพังอิฐ หมู่ที่ 5 ตำบลแพรกหา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง เพื่อส่งมอบโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมี นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวรายงานผลการดำเนินงาน นายปรีชา นวลน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง กล่าวต้อนรับ และนายชาติชาย ศรีหนูสุด นายกเทศมนตรีตำบลแพรกหา กล่าวขอบคุณและรายงานถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ
ดร.เฉลิมชัย กล่าวว่า รัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) มีความห่วงใยต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน ต้องการให้ประชาชนกินดีอยู่ดีมีความสุข มุ่งเน้นการพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ครบทุกมิติ จึงสนับสนุนงบประมาณให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำอุปโภคบริโภคได้ตลอดปี และแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำให้แก่ภาคครัวเรือน ในรูปแบบของโครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็มแห่งนี้ ซึ่งได้ดำเนินการเจาะและพัฒนาบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสม พร้อมก่อสร้างระบบประปาบาดาลด้วยเทคโนโลยีการส่งน้ำระยะไกล เพื่อกระจายน้ำผ่านระบบท่อส่งให้พื้นที่เป้าหมายที่เสี่ยงประสบปัญหาภัยแล้งหรือมีปัญหาด้านคุณภาพน้ำ หรือเป็นพื้นที่ที่มีระบบประปาแล้ว แต่ไม่สามารถจ่ายน้ำได้ครอบคลุมและเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ ของประชาชน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำชับให้ผู้นำท้องถิ่นร่วมกับประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลรักษาเครื่องมือ รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ให้สามารถใช้งานได้ตลอดไป และให้จัดสรรแบ่งปันน้ำกินน้ำใช้กันอย่างทั่วถึงและเพียงพอ
นายภาดล ถาวรกฤชรัตน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า โครงการจัดหาแหล่งน้ำบาดาลระยะไกลเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่แล้งซ้ำซากหรือน้ำเค็ม รูปแบบที่ 1 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ณ บ้านเขาพังอิฐ หมู่ที่ 5 ตำบลแพรกหา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย
บ่อน้ำบาดาล ขนาด 6 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าชนิดมอเตอร์จุ่มใต้น้ำ ขนาด 3 แรงม้า จำนวน 4 ชุด ถังเหล็กเก็บน้ำ ความจุ 100 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 2 ถัง โรงสูบน้ำ พร้อมเครื่องสูบน้ำแบบ Vertical Multistage ขนาด 5.5 แรงม้า จำนวน 2 ชุด หอถังเหล็กเก็บน้ำ ขนาดความจุ 110 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 1 ถัง ถังกรองสนิมเหล็กขนาดใหญ่ จำนวน 1 ถัง สถานีจ่ายน้ำถาวร จำนวน 1 ชุด อาคารระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ จำนวน 1 ชุด ระบบกระจายน้ำ จำนวน 1 ระบบ ซึ่งสามารถผลิตน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคได้ไม่น้อยกว่า 192,720 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
ด้าน นายชาติชาย ศรีหนูสุด นายกเทศมนตรีตำบลแพรกหา กล่าวว่า จากสถานการณ์การขยายตัวของครัวเรือนและจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะหน้าแล้งทำให้น้ำประปาที่มีอยู่สำหรับอุปโภคบริโภคไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของประชาชน แต่หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้เห็นความสำคัญจากปัญหาดังกล่าว และได้มาก่อสร้างระบบน้ำประปาบาดาลด้วยเทคโนโลยีการส่งน้ำระยะไกลแห่งนี้ โดยมีประชากรที่จะได้รับประโยชน์จากการมีน้ำอุปโภคบริโภคที่สะอาด คือ ชาวบ้าน หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 3 หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 จำนวน 1,400 ครัวเรือน หรือ 3,015 คน