2 องค์กร ไทย – จีน จับมือเดินหน้าพัฒนายาทางการแพทย์แผนดั้งเดิม และมาตรฐานการวิจัย ในระบบสุขภาพ

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ Guangxi Medical Products Administration สาธารณรัฐประชาชนจีน ประชุมแลกเปลี่ยนนโยบายและความร่วมมือ เพื่อต่อยอดในการกำกับดูแลด้านยาทางการแพทย์ดั้งเดิมและมาตรฐานการวิจัย และ ว่าด้วยความมั่นคง ในระบบสุขภาพ เพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องระหว่างสองประเทศ

วันที่ 6 ธันวาคม 2567 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นายสมศักดิ์ กรีชัย รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตามนโยบาย นายแพทย์สมฤกษ์ จึงสมาน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก มีนโยบายในการขับเคลื่อนและยกระดับภูมิปัญญาไทยสู่การเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสุขภาพ ผ่านกลยุทธ์ 3 สร้าง ประกอบด้วย สร้างความร่วมมือ สร้างความเชื่อมั่น และ สร้างมาตรฐานและยกระดับ
สำหรับ การประชุมในครั้งนี้ เป็นการแลกเปลี่ยนนโยบายและความร่วมมือในการกำกับดูแลด้านยาทางการแพทย์ดั้งเดิม และมาตรฐานการวิจัย ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือและเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนนโยบาย และการกำกับดูแลการดำเนินงานทางการแพทย์ดั้งเดิม ตลอดจนการพัฒนาด้านมาตรฐานการวิจัยว่าด้วยความมั่นคงในระบบสุขภาพเพื่อส่งผลให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องระหว่างสองประเทศ โดยสอดรับกับนโยบายข้อที่ 1 คือ เน้นการสร้างความร่วมมือ กับภาคีเครือข่ายบริการ ทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาวิชาการ นำองค์ความรู้ภูมิปัญญามาวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา ภาคีเครือข่ายให้เกิดนวัตกรรมบริการและผลิตภัณฑ์ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่น สู่การนำไปใช้ในระบบบริการสุขภาพและเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้ประโยชน์การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก แบบครบวงจร

ประเทศไทยและประเทศจีนมีความร่วมมือกันในการพัฒนาด้านการแพทย์แผนจีน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ความร่วมมือ 26 ปีนี้ทำให้เกิดการพัฒนาและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องระหว่างสองประเทศ ในปัจจุบัน มีการผลิตแพทย์แผนปัจจุบัน ที่อบรมหลักสูตรฝังเข็ม 2,202 ราย กับแพทย์แผนจีนจากมหาวิทยาลัย 2,220 ราย รวมกว่า 4,422 ราย และ ตำรับยาสมุนไพรจีนที่ใช้บ่อยราว 100 รายการ ที่เป็นทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ สถาบันการแพทย์ทางเลือก เป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลเรื่ององค์ความรู้ด้านศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย สำหรับ การรักษาตามศาสตร์แพทย์แผนจีนนั้น มีการรักษา ที่หลากหลาย เช่น การรักษาทางยาสมุนไพรจีน ฝังเข็ม ครอบแก้ว เป็นต้น โดย ผู้ป่วยสามารถเบิกค่ารักษาโดยการฝังเข็มสำหรับผู้ที่ป่วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาต และ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากค่ารักษาดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นายสมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมและพัฒนา การวิจัย การจัดการความรู้ การพัฒนาแหล่งผลิตวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตั้งแต่ระดับต้นทาง สู่ปลายทาง เพื่อพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน การบริการในระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพของประชาชน ในส่วนของผลิตภัณฑ์สมุนไพร กรมมีบทบาทหน้าที่ในการศึกษา วิจัย และพัฒนานวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร รวมถึง การขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ด้วยปัจจุบันค่านิยมของผู้บริโภคมีแนวโน้มเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและ สมุนไพรเพิ่มมากขึ้น มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยาและสมุนไพรที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการ อาหารและยา (อย.) จำนวนกว่า 17,300 รายการ และมีผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยกว่า 2,000 รายการที่ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรคุณภาพ มีพื้นที่ปลูกสมุนไพร 1,059,818 ไร่ และขณะนี้กำลังอยู่ ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน (Good Agricultural and Collection Practice) ต่อไป

เป็นโอกาสอันดีที่ทั้งสองหน่วยงานจากสองประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลและกระชับความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาทางการแพทย์ดั้งเดิม พัฒนามาตรฐาน เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์สมุนไพรในการดูแลสุขภาพของประชาชนแบบองค์รวมทุกมิติ