รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย “น้ำท่วมภาคใต้” กระทบ รพ.ชุมชน 9 แห่ง ยังปิดบริการ 4 แห่งที่ “ปัตตานี” ทีม MSERT กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ทยอยเข้าฟื้นฟู ล่าสุด รพ.ทุ่งยางแดงกลับมาจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักได้แล้วกำชับหน่วยสาธารณสุขในพื้นที่ประเมินสุขภาพกลุ่มเปราะบางในศูนย์พักพิง และดูแลอนามัยสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อ
วันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ศักดา อัลภาชน์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 38/2567 ว่า ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ 6 จังหวัด คือ นครศรีธรรมราช สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล ในรอบวันที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 6 ราย ได้แก่ สงขลา 3 ราย ปัตตานี 2 ราย และยะลา 1 ราย สะสม 25 ราย สาเหตุมาจากพลัดตก/ลื่น/จมน้ำ 19 ราย ไฟฟ้าช็อต 5 ราย และถนนทรุด 1 ราย บาดเจ็บสะสม 38 ราย และสูญหาย 1 ราย สถานบริการสาธารณสุขได้รับผลกระทบเพิ่มเป็น 132 แห่ง ส่วนใหญ่เป็น รพ.สต. 70 แห่ง สถานพยาบาลนอกสังกัดกระทรวง 36 แห่ง สถานบริการสาธารณสุขชุมชน 10 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 9 แห่ง และสาธารณสุขอำเภอ 7 แห่ง เปิดบริการได้ตามปกติ 32 แห่ง ปิดบริการบางส่วน 2 แห่ง และปิดบริการ 98 แห่ง จำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลชุมชน 4 แห่งในปัตตานี ได้แก่ รพ.ยะหริ่ง รพ.ทุ่งยางแดง รพ.หนองจิก และ รพ.แม่ลาน ซึ่งมีการจัดจุดบริการทดแทนและส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่น โดยช่วงวันที่ 1-8 ธันวาคม 2567 ทีม MSERT กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ทยอยเข้าฟื้นฟูโรงพยาบาล และรพ.ทุ่งยางแดงสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักได้แล้ว เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา
นพ.ศักดา กล่าวต่อว่า สำหรับการดูแลช่วยเหลือประชาชน มีการจัดตั้งศูนย์พักพิงเพิ่มขึ้นเป็น 491 แห่งใน 4 จังหวัด คือ ยะลา 61 แห่ง นราธิวาส 114 แห่ง สงขลา 45 แห่ง และปัตตานี 252 แห่ง รองรับประชาชนได้ 60,950 ราย มีผู้เข้าพัก 34,354 ราย ได้เน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ และผู้ดูแลศูนย์พักพิง จัดทำแบบประเมินออนไลน์แยกประเภทและจำนวนกลุ่มเปราะบาง เช่น หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และประเมินสุขภาพทุกกลุ่ม พร้อมทั้งประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล เช่น ส้วม ขยะ อาหารและน้ำ เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงการเกิดโรคติดต่อภายในศูนย์พักพิง ส่วนการดูแลด้านสุขภาพ จากการคัดกรองสุขภาพจิต 6,236 ราย พบมีภาวะเครียดสูง 22 ราย ทั้งหมดได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจแล้วและจะมีการติดตามเป็นระยะจนเข้าสู่ภาวะปกติ
“สถานการณ์ในเขตสุขภาพที่ 11 ขณะนี้เริ่มคลี่คลายแล้ว เขตสุขภาพและจังหวัดสามารถปรับการปฏิบัติการฉุกเฉินได้ โดยเน้นการดำเนินการในระยะฟื้นฟู แต่ช่วงวันที่ 2-5 ธันวาคมนี้ ยังให้เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากอีกครั้ง โดยเฉพาะสุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช รวมถึงเขตสุขภาพที่ 12 คือ ตรัง พัทลุง สตูล และพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วม คือ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เนื่องจากวันที่ 3-7 ธันวาคม 2567 เป็นช่วงน้ำทะเลหนุนสูงทางฝั่งอ่าวไทย อาจทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นได้” นพ.ศักดากล่าว