“สมศักดิ์” ร่วมเปิดประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก

นายกรัฐมนตรี มอบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ สร้างความความเชื่อมั่นด้านสุขภาพให้ประชาชน พร้อมแสดงความมั่นใจประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่นเดียวกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ที่เป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างแก่ทั่วโลก

วันที่ 2 ธันวาคม 2567 ที่ โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน โฮเทลส์ และทาวเวอร์ กทม. นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต้อนรับและร่วมพิธีเปิดการประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก (Regional Conference for Parliaments of the Asia-Pacific Region on Global Health Security)

โดยมี นายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานพิธีเปิด และมี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา นายมาร์ติน จุนกอง เลขาธิการสหภาพรัฐสภา นางสาวไซมา วาเซด ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้แทนรัฐสภาประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก คณะทูตานุทูตประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และผู้แทนองค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมรัฐสภาภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ว่าด้วยความมั่นคงด้านสุขภาพระดับโลก ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐสภาไทย สหภาพรัฐสภา และองค์การอนามัยโลก ซึ่งถือเป็นโอกาสสำคัญที่สมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และแนวปฏิบัติที่ดีจากประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค รวมทั้งได้พบปะหารือถึงความท้าทายและแนวทางการส่งเสริมบทบาทของรัฐสภา และความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเตรียมความพร้อมป้องกันและตอบโต้ภัยโรคระบาดใหญ่ที่มีแนวโน้มเกิดบ่อยขึ้นและมีผลกระทบรุนแรงมากขึ้น

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกของวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลกมากว่า 10 ปี มีศักยภาพจัดการตอบโต้การระบาดใหญ่ โดยใช้กลไกความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จนได้รับการประเมินตัวชี้วัดดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพในลำดับต้นๆ ของโลก และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพผ่านนโยบาย ได้แก่ การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาคและการพัฒนาขีดความสามารถในระดับชาติ การเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพ การแก้ไขปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้วยการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันที่ต้นเหตุ การนำเทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ในระบบสุขภาพ พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายสาธารณสุขทุกภาคส่วนและสุขภาพภาคประชาชน เตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่ สร้างความความเชื่อมั่นด้านสุขภาพให้กับประชาชน

“ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ถึงแม้ว่าเราจะเป็นประเทศที่เล็กแต่เราสามารถแก้ปัญหาโรคต่างๆ ได้ ดังเช่น การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ที่ผ่านมา ที่สามารถจัดการได้โดย อสม. และบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งมั่นใจว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs เราก็จะแก้ไขได้ และจะเป็นแบบอย่างที่ดีต่อไป” นายสมศักดิ์ กล่าว