คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ เร่งประชุมประเมินสถานการณ์น้ำท่วมใต้ คาดฝนยังตกต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยยังตกหนัก ให้กรรมการลุ่มน้ำบริหารจัดการปริมาณน้ำเขื่อนบางลางไม่ให้ผลกระทบท้ายน้ำ เน้นย้ำเตรียมการอพยพและการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ระดมเครื่องจักรเครื่องมือแก้ไขสถานการณ์ทุกจุดโดยเร็ว
เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 4/2567 พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ในระยะนี้ความกดอากาศสูงจากประเทศจีนยังคงแผ่มาทางประเทศไทยประกอบกับลมตะวันออกที่พัดเข้ามาปกคลุมภาคใต้ของประเทศไทย ทำให้ช่วงวันที่ 2 – 4 ธันวาคม 2567 จะมีปริมาณฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะยังคงมีฝนตกและในช่วงวันที่ 4 – 6 ธ.ค.67 พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับอิทธิพลจากระดับน้ำทะเลหนุนสูง ส่งผลต่อการระบายน้ำออกสู่ทะเล ปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย7 หวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช สตูล พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสสำหรับปริมาณน้ำในลำน้ำพบว่าจะมีปริมาณน้ำล้นในหลายพื้นที่ได้แก่ แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำโก-ลก และคลองอู่ตะเภาจากข้อมูลคาดการณ์ฝนตกหนักมากกว่า 200 มม. ในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังดินโคลนถล่มเพิ่มขึ้นจาก 5 จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีจังหวัดเพิ่มเติม ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง จึงได้มีประกาศแจ้งเตือนเฝ้าระวังภัยแผ่นดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ในช่วง 29 พ.ย. – 4 ธ.ค. นี้ โดยที่ผ่านมาได้มีการแจ้งเตือนและอพยพประชาชนได้อย่างทันท่วงที สำหรับสถานการณ์ปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำเขื่อนบางลางปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 919 ล้าน ลบ.ม. (63%) จึงได้มีการงดการระบายน้ำตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 67 แต่จากการคาดการณ์ 7 วันข้างหน้าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามาในเขื่อนบางลาง 500 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นเกือบเต็มของความจุเก็บกัก ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงและความปลอดภัยของเขื่อน ทำให้ต้องมีการเพิ่มการระบายน้ำจึงได้มีการระบายน้ำจากเขื่อนบางลาง โดยประเมินอัตราการระบายน้ำไม่เกิน 16 ล้าน ลบ.ม./วัน หรือ 185ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำที่สถานี X40A ที่กำลังลดลงไม่ให้สูงเกินระดับสูงสุดที่เคยเกิดในช่วงวันที่ 28 พ.ย. 67 ที่ผ่านมา (1,517 ลบ.ม./วินาที หรือ +18.97 ม.รทก) และคำนึงถึงน้ำฝนที่ตกลงมาด้านท้ายเขื่อนเพื่อนำเสนอผลดังกล่าวต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำต่อไป
“ในช่วงที่ผ่านมา สทนช. ได้มีการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและมีการประกาศแจ้งเตือนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม รวมถึงน้ำท่วมขังพื้นที่ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่สุราษฎร์ธานีลงไปจนถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่ง สทนช. ได้มีการประเมินคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ริมแม่น้ำที่มีความเสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่ง เพื่อเป็นเกณฑ์ในการเฝ้าระวัง โดยจะนำข้อมูลรายงานต่อศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยวาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ได้รับทราบและแจ้งเตือนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อใช้วางแผนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมถึงดินโคลนถล่ม ช่วยป้องกันและลดผลกระทบให้ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ” ดร.สุรสีห์ กล่าว
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยเพิ่มเติมว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ พร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเพื่อลดระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขัง พร้อมรถผลิตน้ำดื่มเพื่อให้เพียงพอแก่ความต้องการของประชาชน และขอให้หน่วยงานเตรียมการอพยพ เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ พร้อมเน้นย้ำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้เข้าถึงประชาชนอย่างต่อเนื่องให้มีการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ โดยที่ประชุมเสนอให้มีการประชาสัมพันธ์สื่อสารด้วยภาษาท้องถิ่นเพื่อการสื่อสารในพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญมากให้เข้าใจสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นและเข้าถึงประชาชนได้อย่างดีสำหรับแนวทางการบริหารจัดการน้ำในระยะถัดไป จะดำเนินการโดยใช้คณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาเสนอแนะและให้ความเห็นต่อ กนช. ในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์แนวโน้ม รวมทั้งตรวจสอบระบบการป้องกัน การแจ้งเตือนภัย และการเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหาต่อไป