สถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 67 เวลา 7.00 น.

1.สภาพอากาศวันนี้ : มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกาและปลายแหลมมลายู ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

คาดการณ์ : ในช่วงวันที่ 4–5 ธ.ค. 67 มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ มีกำลังอ่อนลงเป็นกำลังปานกลาง ทำให้ภาคใต้ตอนกลางและตอนล่างมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง

2. สถานการณ์น้ำอ่างเก็บน้ำในภาพรวม : ปริมาณน้ำรวม 82% ของความจุเก็บกัก (66,007 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำใช้การ 72% (41,788 ล้าน ลบ.ม.) เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ระดับน้ำต่ำกว่าระดับควบคุมต่ำสุดหรือมีน้ำใช้การน้อยกว่า 30% 3 แห่ง ดังนี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จุฬาภรณ์ ลำตะคอง และสิรินธร

3. คุณภาพน้ำ : แม่น้ำสายหลัก 4 สาย (เจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง และบางปะกง) อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

4. ประกาศ : ประกาศ สทนช. ฉบับที่ 20/2567 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ในช่วงวันที่ 27 พ.ย. – 4 ธ.ค. 67 ดังนี้
1. พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่ม น้ำท่วมขังในเขตชุมชนเมืองที่เกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำเนื่องจากระบายไม่ทัน บริเวณ จ.ชุมพร สุราษฎร์ธานี ตรัง สตูล นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
2. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 บริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม
3. เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ บริเวณแม่น้ำสายหลัก และลำน้ำสาขาของ คลองชุมพร แม่น้ำหลังสวน แม่น้ำตาปี แม่น้ำตรัง คลองชะอวด คลองลำ คลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส

5.การให้ความช่วยเหลือ : วานนี้ (29 พ.ย. 67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา ดังนี้
1. ให้กรมประชาสัมพันธ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และกรมทรัพยากรธรณีแจ้งเตือนประชาชนในระดับพื้นที่
2. ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และกระทรวงคมนาคม เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อเตรียมพร้อม ทั้งพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง
3. ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ลดการระบายน้ำของเขื่อนบางลาง ซึ่งดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 พ.ย. 67 เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ท้ายน้ำ
4. ให้กระทรวงกลาโหม และกรมเจ้าท่า ระดมเรือท้องแบน เจ็ตสกี และรถยกสูง เข้าพื้นที่เพื่อเคลื่อนย้ายประชาชน
ออกจากพื้นที่ไปที่ศูนย์พักพิง
5. ให้คณะทำงานภายใต้ ศปช. ประชุมติดตามสถานการณ์ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา เพื่อมอบหมายและสนับสนุนการช่วยเหลือจนกว่าจะเข้าสู่สภาวะปกติ
6. กระทรวงสาธารณสุขติดตามข้อมูลการป้องกันโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับผู้ป่วย
7. ให้เร่งสำรวจพื้นที่ที่เกิดดินถล่ม เพื่อเร่งแก้ไขให้ราษฎรสามารถสัญจรได้อย่างปลอดภัย และมอบหมายตรวจสอบเส้นทางรถไฟที่อาจจะได้รับผลกระทบจากดินถล่ม
8. มอบหมายให้ทุกส่วนราชการระดมสรรพกำลังเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้กลับสู่ปกติโดยเร็ว