ปภ.รายงานยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโพดุลและคาจิกิ 7 จังหวัด เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยครอบคลุมทุกด้าน

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโซนร้อน”โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน รวม 32 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ สถานการณ์โดยรวมระดับน้ำลดลงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย อีกทั้งสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลพายุโซนร้อน “โพดุล” และพายุโซนร้อน “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ สกลนคร ปราจีนบุรี ตราด สระแก้ว กระบี่ ระนอง และชุมพร รวม 175 อำเภอ 896 ตำบล 6,400 หมู่บ้าน 5 เขตเทศบาล 11 ชุมชน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 370,749 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 28 ราย (ยโสธร 8 ราย ร้อยเอ็ด 6 ราย อำนาจเจริญ 4 ราย ขอนแก่น 3 ราย พิจิตร 2 ราย อุบลราชธานี 1 ราย พิษณุโลก 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย สกลนคร 1 ราย น่าน 1 ราย) ผู้บาดเจ็บ 1 คน (ชัยภูมิ) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก พิจิตร อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ อพยพประชาชน 20,813 คน ในพื้นที่ 3 จังหวัด รวม 56 จุด (อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี) ซึ่งสถานการณ์โดยรวมระดับน้ำลดลงแต่ยังคงมีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเจ้าหน้าที่พร้อมระดมวัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัย โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกเครื่องส่งสูบน้ำระยะไกลเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประภัย โดยแจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น อีกทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยและเรือท้องแบนให้บริการขนย้ายสิ่งของและอำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่ประชาชน ตลอดจนสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ อย่างไรก็ตาม ปภ.ขอให้ประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนและคำแนะนำอย่างเคร่งครัด รวมถึงระมัดระวังภัยที่มักเกิดในช่วงน้ำท่วม อาทิ อุบัติภัยจากไฟฟ้า อุบัติภัยทางน้ำ สัตว์มีพิษ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป