รัฐมนตรีวัฒนธรรม สถาปนาพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ชูวัฒนธรรมชาติพันธุ์เป็นพลังสร้างความสมดุลทรัพยากรธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่ เครือข่ายภาคประชาสังคม พี่น้องเครือข่ายกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ๕ จังหวัด และภาคีองค์กรเครือข่ายด้านชาติพันธุ์ จัดงานสถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลโต๊ะบาหลิว ต.ศาลาด่าน อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ โดยมีภาคส่วนต่างๆ ทั้งส่วนราชการ ภาคเอกชน และกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 500 คน ร่วมงาน

ในโอกาสนี้นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า “พี่น้องกลุ่ม ชาติพันธุ์ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอัตลักษณ์ และวิถีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ถือเป็นศักยภาพที่จะใช้ทุนวัฒนธรรมเป็นพลังสร้างสรรค์ในการพัฒนาประเทศตามแนวนโยบาย Soft power ของรัฐบาล รวมทั้งยังใช้เป็นพลังช่วยปกป้อง ดูแลทรัพยากรของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืนตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา

กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล ตามมติคณะรัฐมนตรี 2 มิถุนายน 2553 มาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 เป็นกลไกพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อ “คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม” โดยสนับสนุนและส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ “ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม” มีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม”

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล ยังกล่าวด้วยว่า “การขับเคลื่อนพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์นี้ถือเป็นสาระสำคัญหลักในร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ วันนี้จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ทุกท่านที่มาร่วมงานในวันนี้จะได้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนของแนวคิดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวทิ้งท้าย

พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์เป็นแนวทางการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ในฐานะชุมชนดั้งเดิมที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมทั้งได้รับการส่งเสริมศักยภาพบนฐานทุนทางวัฒนธรรมปัจจุบันมีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ 23 พื้นที่ และพื้นที่ชุมชนชาวเล อูรักลาโวยจฺ ชุมชนโต๊ะบาหลิว อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 24

โต๊ะบาหลิว เป็นชุมชนดั้งเดิมของชาวเลอูรักลาโวยจฺที่อยู่อาศัยมาแล้วกว่า 80 ปี ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงตามวิถีภูมิปัญญาเนื่องจากอยู่ใกล้กับชายฝั่งและตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนยังมีประเพณีวัฒนธรรมที่ปฏิบัติกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การรำรองแง็งที่เป็นศิลปะพื้นบ้านด้านการขับร้องและร่ายรำในภาษามลายู ประเพณีลอยเรือ (อารี ปือลาจั๊ก) เพื่อสะเดาะเคราะห์และเสี่ยงทายโชคชะตาให้การประกอบอาชีพทางทะเลปราศจากอุปสรรค โดยมีศาลโต๊ะบาหลิวเป็นศูนย์รวมจิตวิญญาณของชุมชนที่ยึดเหนี่ยวครอบครัวและชุมชนไว้ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติผ่านกติกาชุมชน

ชาวเลอูรักลาโวยจฺ เห็นว่าวิถีวัฒนธรรมของชุมชนมีความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน จึงได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลและแผนบริหารจัดการชุมชนเพื่อขับเคลื่อนเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อดูแลรักษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจฺ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในพื้นที่อย่างสมดุลและยั่งยืนบนฐานภูมิปัญญา