โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม และสาขาวิชาต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นสาเหตุของโรคร้ายแรงหลายๆ ประการ ตามมา โดยในประเทศไทย คนไทยทุกๆ 10 คน เป็นเบาหวาน 1 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมความรู้และการป้องกัน โรคเบาหวานตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต การป้องกันก่อนเกิดโรคตลอดจนการรักษาในระยะแรกๆ เป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยลดโรคแทรกซ้อน และการเสียชีวิตจากโรคเบาหวาน อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ไปได้มาก
ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ด้านเบาหวาน ฮอร์โมน และเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้คำนึงถึงความสำคัญนี้ จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อ ให้ความรู้ด้านโรคเบาหวานต่อเนื่องอย่างเสมอมา เช่น ค่ายเบาหวานของ รพ.จุฬาลงกรณ์ ที่มีสมาชิกกว่า 700 คน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการปฏิบัติตน ในโรคเบาหวานทั้งต่อสมาชิกในชมรมเองและ บุคคลภายนอกชมรม รวมถึงการจัดงานเบาหวานโลก เป็นประจำทุกปี
งานเบาหวานโลก ถือเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งในการเผยแพร่ ความรู้ กับประชาชนทั่วไป โดยคำขวัญในวันเบาหวานโลกปีนี้คือ “Diabetes and Well-being ทุกคนที่เป็นเบาหวาน มีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างดี” เน้นถึง ความสำคัญว่าผู้เป็นเบาหวานก็ดำรงชีวิตได้อย่างดี มีความสุข มีสุขภาวะที่ดี ถ้าได้รับการดูแลที่เหมาะสม
กิจกรรมจะมีกิจกรรมเสวนาเรื่องเบาหวาน โดยผู้เชี่ยวชาญ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยงานต่างๆ ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุน การส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว เวชศาสตร์ชันสูตร เวชศาสตร์ฟื้นฟู จักษุวิทยา ฝ่ายโภชนาการ ฝ่ายพัฒนาสุขภาพ ชมรมเบาหวาน และคณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาจัดซุ้มกิจกรรมต่างๆ เช่น การเจาะน้ำตาลปลายนิ้ว ซุ้มปรึกษาแพทย์ ซุ้มการคัดกรองภาวะเบาหวานขึ้นตา การดูแลเท้าและผลิตภัณฑ์รองเท้า การแนะนำอาหารสุขภาพ และการออกกำลังกาย และอื่นๆ อีกมากมาย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวใน งานวันเบาหวานโลก 2567 ถึงการดูแลตัวเองของผู้ป่วยเบาหวาน ว่า “โรคเบาหวานเป็นหนึ่งในโรคเรื้อรังที่สามารถควบคุมได้หากผู้ป่วย มีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม การดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานนั้น ไม่ได้เป็นเพียงการรักษาทางการแพทย์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ทั้งการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย ในฐานะที่ สสส. เป็นองค์กรที่มีพันธกิจในการส่งเสริมสุขภาพของคนไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนให้ผู้ป่วยและครอบครัวเข้าใจแนวทางการดูแลตนเองที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น สสส. จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์และให้ความรู้ในเรื่องการดูแล ผู้ป่วยเบาหวานและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เพื่อกระตุ้นให้ประชาชน เห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพ ตั้งแต่การบริโภคอาหารที่มีคุณค่า การออกกำลังกายอย่างเหมาะสม การจัดการความเครียด และการเข้าถึง ข้อมูลสุขภาพที่ถูกต้อง และมุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรชุมชนในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีของคนไทย ทั้งในด้านการพัฒนาพื้นที่เพื่อการออกกำลังกาย การให้ข้อมูลทางโภชนาการ ที่ถูกต้อง สนับสนุนให้ชุมชนมีความรู้ในการป้องกันโรคเบาหวาน โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รวมถึงการจัดตั้งกิจกรรมกลุ่มสนับสนุน เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานมีเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และกำลังใจ ซึ่งกันและกัน”
ดร.นพ.ไพโรจน์ ย้ำว่า “การดูแลตนเองเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการ โรคเบาหวาน และ สสส. จะยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องในการสร้างสังคม ที่ให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี เพื่อให้คนไทยทุกคนมีชีวิต ที่แข็งแรงและยั่งยืน”