นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มุ่งขับเคลื่อน Soft Power ด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ สารคดี และแอนิเมชันของประเทศไทยไปสู่ระดับนานาชาติ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการไทยกับต่างประเทศเพื่อเปิดโอกาสในการสร้างตลาดใหม่ๆ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากรด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในการเข้าร่วมเทศกาลและงานประกาศรางวัลนานาชาติ ซึ่งวธ.ได้จัดกิจกรรมส่งเสริมและเผยแพร่ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในต่างประเทศ (Roadshow) ประจำปี 2567 ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งโตเกียว ประจำปี 2567 (TIFFCOM 2024) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น โดยมีผู้ประกอบการด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ของไทยที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมจำนวน 9 บริษัท ร่วมออกคูหาประชาสัมพันธ์และจัดจำหน่ายผลงานในนามประเทศไทยภายในงาน TIFFCOM 2024 ได้แก่ 1.บริษัท วันเดอร์แลนด์โปรดักชั่น จำกัด 2.บริษัท เอ็ม ดิสทริบิวชั่น จำกัด 3.บริษัท ทองคำ ฟิล์มส์ จำกัด 4.บริษัท หมีเรื่องหมาเล่า จำกัด 5.บริษัท ทรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด 6.บริษัท ล็อคแมน 2011 จำกัด 7.บริษัท กันตนา โพสท์ โปรดักชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด 8.บริษัท เดอะมั้งค์ สตูดิโอ จำกัด และ9.บริษัท ไวท์ ไลท์ สตูดิโอ จำกัด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า งานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งโตเกียวถือเป็นหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญในเอเชีย และปีนี้มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 4,000 คน จาก 42 ประเทศ ภายในงานมีการจัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ด้านภาพยนตร์และด้านอื่นๆจากหลากหลายชาติ 15 ครั้งและมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 2,000 คน แสดงให้เห็นถึงความสนใจและความสำคัญของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในเอเชีย ซึ่งในส่วนของประเทศไทยมีผลงานภาพยนตร์และซีรีส์ที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมงาน ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง “หลานม่า” และ “ธี่หยด 2” รวมถึงซีรีส์ “Good Doctor” ที่ดึงดูดความสนใจจากผู้ประกอบการต่างชาติจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ช่วยสร้างโอกาสในการขยายตลาดและความร่วมมือระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดการเจรจาธุรกิจรวม 104 ครั้งและสร้างมูลค่า 231 ล้านบาท
“การเข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติแห่งโตเกียวของวธ.และผู้ประกอบการไทยในครั้งนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งภาคการผลิต ภาคบริการ ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและสร้างความร่วมมือกับนานาชาติ ช่วยสร้างรายได้ เผยแพร่ Soft Power ด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร แหล่งท่องเที่ยว ศิลปะและวัฒนธรรมผ่านสื่อภาพยนตร์และวีดิทัศน์และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่มีความหลากหลาย บุคลากรที่มีคุณภาพ และมีการให้บริการในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ครบถ้วนในสายตานานาชาติ ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริม สร้างสรรค์ ผลักดันทุนทางวัฒนธรรมให้เป็นทุนทางเศรษฐกิจและพัฒนาและผลักดันสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมให้มีส่วนแบ่งเพิ่มขึ้นในตลาดโลกตามเป้าหมายของกระทรวงวัฒนธรรม” นางสาวสุดาวรรณ กล่าว