สถานการณ์แรงงานนอกระบบในปี 2567  มากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตรกรรม และลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบพบปัญหาจากความไม่ปลอดภัยในการทำงานมากที่สุด

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ สสช. ได้ทำการสำรวจแรงงานนอกระบบเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน และปัญหาที่เกิดจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ โดยแรงงานนอกระบบ หมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ซึ่งผลการสำรวจในปี 2567 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ภาพรวมสถานการณ์แรงงานนอกระบบในปีนี้ พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวน ทั้งสิ้น 40.0 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 21.1 ล้านคน (ร้อยละ 52.7) ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีจำนวน 18.9 ล้านคน (ร้อยละ 47.3) โดยแรงงานนอกระบบเพศชายมีจำนวนมากกว่าเพศหญิง

กิจกรรมทางเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม มีจำนวน 11.4 ล้านคน หรือร้อยละ 54.2 รองลงมาทำงานในภาคการบริการและการค้า ร้อยละ 36.2 และภาคการผลิตร้อยละ 9.6 ขณะที่แรงงานในระบบทำงานอยู่ในภาคการบริการและการค้ามากที่สุด รองลงมาเป็นภาคการผลิตและภาคเกษตรกรรม

แรงงานนอกระบบ ร้อยละ 29.9 หรือจำนวน 6.3 ล้านคน พบปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน โดยร้อยละ 47.7 ประสบปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ส่วนปัญหาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่พบมากที่สุด คือ อิริยาบถในการทำงาน(ไม่ค่อยได้เปลี่ยนลักษณะท่าทางในการทำงาน) ร้อยละ 36.5 และในด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงาน พบปัญหาจากสารเคมี ร้อยละ 61.8 เป็นต้น

เมื่อพิจารณาแนวโน้มของแรงงานนอกระบบ พบว่า ในช่วงปี 2563 – 2567 มีแนวโน้มลดลงในช่วง 3 ปีแรก ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปี 2565 คือ ร้อยละ 53.8 ร้อยละ 52.0 และร้อยละ 51.0 ตามลำดับ และค่อย ๆ เพิ่มเป็นร้อยละ 52.3 จนถึงร้อยละ 52.7 ในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบ ควรต้องมีการดูแลและส่งเสริมให้แรงงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองหรือเข้าถึงหลักประกันทางสังคมให้มากขึ้น พบกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nso.go.th