จับ “หอยลายเถื่อน” มากกว่า 4 ตัน ลักลอบนำเข้าทางทะเล จ.ระนอง อธิบดีฯ บัญชา สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจเข้ม ป้องกันลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมาย

นายบัญชา  สุขแก้ว  อธิบดีกรมประมง  เปิดเผยหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามการจับกุมเรือประมงต่างชาติ ที่ลักลอบนำสินค้าสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักรไทยว่าเมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 67) เวลา 12.10 น. ว่าที่ร้อยตรีประเสริฐ คงเยี้ยน หัวหน้าหน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลเกาะสุรินทร์ (พังงา) พร้อมเจ้าหน้าที่รวม 6 นาย สังกัดศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลกระบี่ กองตรวจการประมง กรมประมง ได้นำเรือตรวจประมงทะเลออกปฏิบัติงานปราบปรามผู้กระทำความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2560 ในทะเลอันดามัน ท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ขณะกำลังลาดตระเวนอยู่บริเวณท่าเทียบเรือประมงระนอง พบเรือประมงสัญชาติเมียนมากำลังลักลอบนำเข้าหอยลายที่คราดจากฝั่งเมียนมาเพื่อนำมาขายในฝั่งไทยและส่งต่อไปยังตลาดภาคกลาง ซึ่งผู้ต้องหาได้หลบหนีระหว่างเข้าทำการจับกุม จึงได้ตรวจยึดของกลาง ประกอบด้วย เรือหางยาวชื่อ KT 2558 พร้อมด้วยสัตว์น้ำ 1 รายการ คือ หอยลายขนาด 100 ตัวต่อกิโลกรัมจำนวน 90 กระสอบ กระสอบละ 45 กิโลกรัม รวมน้ำหนัก 4,050 กิโลกรัม รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 200,000 บาท ซึ่งฐานการกระทำผิดกฎหมายครั้งนี้ คือ การนำเข้าสัตว์น้ำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความผิดตามพระราชกำหนดการประมง พ.ศ 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ 2560 ตามมาตรา 92 ภายใต้บังคับมาตรา 96 ห้ามมิให้ผู้ใดนำเข้าสัตว์น้ำเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ใดประสงค์จะส่งออกหรือนำผ่านสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำต้องแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงว่าสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนั้นได้มาจากการทำประมงโดยชอบด้วยกฎหมายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบก่อน มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 158 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 92 วรรค 1 หรือแสดงใบรับรองการจับสัตว์น้ำหรือเอกสารอื่นใดตามมาตรา 92 วรรค 2 อันเป็นเท็จต้องระวางโทษปรับ 5 เท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่นำเข้าส่งออกหรือนำผ่าน ซึ่งขณะนี้ กรมประมงได้นำของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.เมืองระนอง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เพื่อดำเนินการทางกฎหมาย ส่วนสัตว์น้ำของกลาง หลังจากนี้ กรมประมงจะนำไปมอบให้ผู้ยากไร้และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่จังหวัดระนอง ตามระเบียบของทางกรมประมงต่อไป

อธิบดีฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านอัครา  พรหมเผ่า  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เน้นย้ำ ให้กรมประมงดำเนินการป้องกัน เฝ้าระวัง การทำประมงผิดกฎหมาย และปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าประมงผิดกฎหมายด้วยความเข้มแข็ง เพื่อเป็นการแสดงจุดยืนของประเทศไทยให้คู่ค้าและผู้บริโภคนานาประเทศได้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการประมงและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารสัตว์น้ำเป็นครัวของโลกเป็นความมั่นคงทางด้านอาหาร