วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) เปิดเผยก่อนเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมระดับสูง ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP 29) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมฯ และขึ้นกล่าวถ้อยแถลงในนามของประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 19 – 20 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ถึงกรณีที่มีรายงานพบการตายของพะยูน จำนวนมากในพื้นที่จังหวัดตรัง ว่า “ตนมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ายของพะยูนในช่วงนี้เป็นอย่างมาก ที่พบการตายอย่างต่อเนื่อง มีรายงานเบื้องตนว่ามีหลายสาเหตุ แต่ที่สำคัญมาจากแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารหลักของพะยูนมีปริมาณลดลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อน้ำทะเล ทำให้แหล่งหญ้าทะเลเกิดความเสื่อมโทรมอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต โดยเฉพาะแหล่งหญ้าทะเลที่เคยเป็นแหล่งหากินหลักของพะยูนในแถบอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม และบริเวณเขตห้ามล่าสัตว์ป่าลิบง มีความสมบูรณ์ลดลงถึง 50% ทำให้พะยูนมีการอพยพย้ายแหล่งหากิน”
ดร.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า “ก่อนหน้านี้ ตนจึงได้มอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ร่วมกันดำเนินการวางแนวทางในการกู้วิกฤตสถานการณ์ความอยู่รอดของพะยูนเป็นการเร่งด่วนแล้ว ทั้งการดำเนินการเร่งฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติที่มีอยู่เดิม และการหาอาหารจากนอกแหล่งธรรมชาติไปเพิ่มเติมให้กับพะยูน รวมถึงการลงพื้นที่ที่พบพะยูนอพยพเข้าไปหากิน เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่ถึงมาตรการในการร่วมกันดูแลอนุรักษ์พะยูน เพื่อไม่ให้เกิดการสูญเสียสัตว์ทะเลหายากนี้เพิ่มขึ้นอีก จึงได้กำชับให้ทั้ง 2 หน่วยงาน เร่งดำเนินการตามมาตการในระยะเร่งด่วนให้เห็นผลในเชิงรูปธรรมโดยเร็ว เพื่อรักษาพะยูนทุกตัวที่เหลือไว้ให้ได้ พร้อมทั้งสั่งการให้รายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากกลับมาจากการประชุม COP 29 จะมีการลงพื้นที่เพื่อติดตามมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยตนเองโดยเร็วที่สุด”