วันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 นายอภิชาต ศักดิเศรษฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทปษ.รมว.ทส.) เปิดเผยถึงปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่ยังส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้หน่วยงานของกระทรวง ทส. ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมาย อาทิ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เป็นต้น ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง โดยมอบหมายให้ทำการสำรวจติดตามการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในระบบนิเวศ ทั้งที่เป็นพื้นที่ในความรับผิดชอบของ ทส. และใกล้เคียง พร้อมเฝ้าระวังผลกระทบที่เกิดขึ้น และยังได้ให้ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่น เช่น กรมประมง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด ทั้งเพื่อแก้ไนปัญหาและฟื้นฟูอย่างจริงจังมาโดยตลอด
นายอภิชาต กล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ขณะที่ ดร.เฉลิมชัย ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2564 ก็ได้ออกประกาศฯ ให้ปลาหมอคางดำ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามเลี้ยงในราชอาณาจักร เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยลดปัญหาสัตว์น้ำต่างถิ่นที่หลุดรอดเข้ามาแพร่พันธุ์และสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร ก่อนหน้านั้น ในช่วงปี 2561 กรมประมงได้ออกประกาศห้ามมิให้นำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง ปลาหมอคางดำ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมประมง หรือเป็นผู้ซึ่งอธิบดีกรมประมงมอบหมาย ซึ่งหากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรการดังกล่าวยังคงดำเนินมาโดยตลอด
ทปษ.รมว.ทส. เผยด้วยว่า ในส่วนของ ทส. เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำให้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดร.เฉลิมชัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ ทส. เร่งดำเนินการตามมาตรการ และแนวทางปฏิบัติตามข้อสั่งการอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการจัดทำแผนการบริหารจัดการที่มีการกำหนดมาตรการในการป้องกัน ควบคุม กำจัด สำรวจ และติดตามตรวจสอบการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำ ในเขตพื้นที่อนุรักษ์ตามกฎหมาย พื้นที่ที่มีแนวเขตติดต่อกับพื้นที่อนุรักษ์ และพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่เปราะบางและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง รวมถึงส่งเสริมสนับสนุนการศึกษา วิจัยการจัดการปลาหมอคางดำ โดยวิธีที่เหมาะสม และการกำหนดให้มีการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงาน พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้ามายัง รมว.ทส. อย่างต่อเนื่อง