สรพ. จัดสัมมนาเรียนรู้กลไกและวิธีการใช้เครื่องมือพัฒนาคุณภาพ (Quality Tools) แก่โรงพยาบาลสมาชิกโครงการ 3P Safety 974 แห่ง เพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการยกระดับการพัฒนาความปลอดภัยและรับรองคุณภาพต่อเนื่อง
สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. จัดสัมมนาการเรียนรู้กลไกและวิธีการใช้เครื่องมือพัฒนาคุณภาพ (Quality Tools) สำหรับสมาชิก 3P Safety Membership ระหว่างวันที่ 14 – 15 พ.ย. 2567 ณ อาคารฟอรั่ม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมีผู้บริหาร ผู้นำการขับเคลื่อน และผู้ปฏิบัติ จากโรงพยาบาลซึ่งเป็นสมาชิกโครงการ 3P Safety จำนวน 974 แห่ง เข้าร่วมประชุม ทั้งแบบ Onsite และ Online การสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพและการบริหารความเสี่ยงของโรงพยาบาล ทำความเข้าในเรื่อง 3P Safety Goals ตลอดจนเรียนรู้การใช้งานเครื่องมือต่างๆ ทั้งระบบ National Reporting and Learning System (NRLS) ระบบวัฒนธรรมความปลอดภัยโรงพยาบาล (Hospital Safety Culture Survey Online: HSCS) ระบบรับฟังประสบการณ์ผู้ป่วย และผู้รับบริการ (Patient Experience Program: PEP) และ ระบบสารสนเทศเปรียบเทียบวัดระดับคุณภาพโรงพยาบาล (Thailand hospital indicator program: THIP)
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า ทิศทางการขับเคลื่อน 3P Safety Goals ในระดับโลกนั้น จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำแต่ละปีมีอุบัติการณ์ 134 ล้านครั้ง มีผู้ป่วย 2.6 ล้านคนที่เสียชีวิตจากอันตรายที่ป้องกันความเสี่ยงได้ ขณะที่ในประเทศรายได้สูง ทุกๆ 1 ใน 10 ของผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีสาเหตุจากอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ที่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นในปี 2017 องค์การอนามัยโลกจึงเริ่มแคมเปญชักชวนให้ประเทศสมาชิกมี Action ในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยอย่างจริงจัง และมี World Patient Day ในปี 2019
หลังจากนั้นเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 จึงมีการส่งเสริมในเรื่องของความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ และถัดมาก็มีการโปรโมทเรื่องสิทธิของผู้ป่วยมีสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะได้รับการดูแลเพื่อความปลอดภัย และมีการทำ Global Safety Action Plan โดยตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2021-2030 หรืออีก 5 ปีนับจากปัจจุบัน จะลด Harm ในระบบสุขภาพให้เป็นศูนย์
พญ.ปิยวรรณ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทยนั้น มีการขับเคลื่อนด้านความปลอดภัย ไปกับองค์การอนามัยโลกและได้รับการยอมรับในหลายๆ เรื่อง เช่น การมีนโยบาย 3P safety การมีวัฒนธรรมเรียนรู้และพัฒนาความปลอดภัยของผู้ป่วยในองค์กร การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยต่อระบบความปลอดภัย การให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยของบุคลากรสาธารณสุข หรือประวัติศาสตร์การพัฒนาระบบ NRLS ของไทยก็ถูกยกเป็นโมเดลตัวอย่างด้วย โดยสรุปแล้วองค์การอนามัยโลกมีการอ้างอิงถึงประเทศไทยเกี่ยวกับความปลอดภัยในหลายยุทธศาสตร์มาก
“สำหรับทิศทางของไทย เราได้ประกาศในที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขโลก ว่าจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3P Safety ซึ่งองค์ประกอบที่จะทำให้สำเร็จได้นั้น ต้องอาศัยการสนับสนุนจากฝ่ายบริหาร มีวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ชัดเจน มีการทำงานร่วมกันจากหลายภาคส่วน ต้องมีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ต้องมีกระบวนการอบรมสร้างการเรียนรู้ให้เกิดการปฏิบัติ บนพื้นฐานของการใช้ประโยชน์จากข้อมูล สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และสร้างการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือต้องบูรณาการไปกับการรับรองคุณภาพ โดยมี Safety เป็นคำตอบของกระบวนการ” พญ.ปิยวรรณ กล่าว
ทั้งนี้ การสัมมนาดังกล่าวจะใช้เวลาทั้งหมด 2 วัน โดยผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้แนวทางการบูรณาการ 3P Safety ในมาตรฐาน HA และกระบวนการพัฒนาและรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน HA การทำความเข้าใจภาพรวมระบบ NRLS, HRMS, PEP, THIP และการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อยกระดับการพัฒนาและรับรองคุณภาพต่อเนื่อง ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้งานระบบต่างๆ ร่วมกัน