ลุงตู่ ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมในเขต จ.อุบลราชธานีและยโสธร /ชป.คาดการณ์อีก 2 วัน น้ำมูลจะสูงสุด

บ่ายวันที่ 9 ก.ย. 62 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานีและยโสธร โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน(ด้านบำรุงรักษา) และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่ง-   อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมือง จ.ยโสธร และ ศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของเทศบาล ต.บ้านกอก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากอิทธิพลของ พายุ “โพดุล” และพายุ “คาจิกิ”ทำให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่ช่วงวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 5 กันยายน 2562 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน ที่จังหวัดยโสธร  ปัจจุบันมีพื้นที่ถูกน้ำท่วมรวมทั้งสิ้น 442,491 ไร่ ฝนที่ตกหนักในลุ่มน้ำลำเซบาย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในเขต อ.กุดชุม  อ.ป่าติ้ว  อ.คำเขื่อนแก้ว อ.ไทยเจริญ และ อ.เลิงนกทา ส่วนแม่น้ำชี ปริมาณน้ำที่ไหลหลากมาจากแม่น้ำยัง ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีที่ไหลผ่าน จ.ยโสธร เพิ่มสูงขึ้น จนไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.เมือง อ.มหาชนะชัย และ อ.ค้อวัง โครงการชลประทานยโสธร ได้เร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ บริเวณบ้านกลางสระเกษ ต.โพธิ์ไทร อ.ป่าติ้ว จำนวน 3 เครื่อง บริเวณบุ่งน้อยบุ่งใหญ่ อ.เมืองยโสธร จำนวน 7 เครื่อง และที่บริเวณเขื่อนยโสธร ต.เขื่องคำ อ.เมืองยโสธร ได้ทำการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 10 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและมอบน้ำดื่มให้กับผู้ประสบภัยในเขตจังหวัดยโสธรด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ปัจจุบันมีพื้นที่น้ำท่วมรวม 276,182 ไร่ ฝนที่ตกหนักส่งผลให้ลำน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำมูล มีปริมาณน้ำสูงขึ้นและเอ่อล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ดังนี้ ลุ่มน้ำลำเซบาย มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ในเขต อ.ม่วงสามสิบ อ.เขื่องใน และ อ.เมืองอุบลราชธานี, ลุ่มน้ำลำเซบก มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.ตระการพืชผล อ.ม่วงสามสิบ อ.ตาลสุม อ.ดอนมดแดง และ อ.เหล่าเสือโก๊ก , ลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ทุ่งศรีอุดม อ.นาเยีย อ.น้ำขุ่น อ.วารินชำราบ อ.เดชอุดม อ.นาจะหลวย และ อ.น้ำยืน , ลุ่มแม่น้ำชี มีน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.เขื่องใน และ อ.เมืองอุบลราชธานี , แม่น้ำโขง มีล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ลุ่มต่ำบริเวณ อ.โขงเจียม

ในส่วนของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำมูล ปริมาณน้ำที่ไหลหลากจากพื้นที่ตอนบน ประกอบกับมีฝนตกในเขตจังหวัดอุบลราชธานี ส่งผลให้ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M.7(บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย) อ.เมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำป่าบริเวณป่าบุ่งป่าทาม และชุมชนริมแม่น้ำมูล ดังนี้ ชุมชนบ่อบำบัดบูรพาใน, ชุมชนหลังวัดสุปัฏวนาราม, ชุมชนบ้านท่าบ่อ, ชุมชนวังแดงห้วยม่วง ,ชุมชนบูรพา 2 ,ชุมชนหาดวัดใต้ ,ชุมชนบุ่งกระแซว ,ชุมชนบ้านวังสว่าง ,ชุมชนบ้านโนนบุ่ง ,ชุมชนท่าบ่งมั่ง ,ชุมชนเกษแก้ว,ชุมชนหาดสวนยา และชุมชนท่าก่อไผ่ และมีน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.วารินชำราบ อ.สว่างวีระวงศ์ อ.สิรินธร อ.ดอนมดแดง อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สำโรง กรมชลประทาน ได้ให้การช่วยเหลือ ด้วยการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำบริเวณเขื่อนธาตุน้อย ต.ธาตุน้อย อ.เขื่องใน จำนวน  10 เครื่อง และบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร อีก 30 เครื่อง ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 1 เครื่อง บริเวณแยกหนองตาโผ่น อ.วารินชำราบ และยังได้ให้เจ้าหน้าที่ชลประทานลงไปตรวจเยี่ยมมอบน้ำดื่มและถุงยังชีพให้กับชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมอีกด้วย

กรมชลประทาน คาดการณ์ว่าหากไม่มีฝนตกลงหนักลงมาเพิ่มเติม ในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีปริมาณน้ำสูงสุดจะไหลผ่านที่สถานีวัดน้ำ M.7 บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ในช่วงกลางดึกของวันที่ 11 ก.ย. เวลาประมาณ 23.00 น. ถึงเวลาประมาณตี 1 ของวันที่ 12 ก.ย. นี้ ในเกณฑ์ประมาณ 4,500 – 4,600 ลบ.ม./วินาที หรือที่ระดับสูงสุดประมาณ 10.40 – 10.50 เมตร (ระดับตลิ่ง 7 เมตร(รสม.)) และ    คาดว่าระดับน้ำจะทยอยลดลงสู่ระดับตลิ่งในช่วงกลางดึกของวันที่ 25 ก.ย. เวลาประมาณ 23.00 น. ถึงเวลาประมาณตี 1 ของวันที่ 26 ก.ย. 62   

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมูล ด้วยการชะลอการไหลของน้ำในแม่น้ำมูลที่จะลงมาสมทบกับลำน้ำชี โดยใช้เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาเป็นอาคารควบคุม เพื่อเพิ่มการระบายน้ำจากแม่น้ำชีลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวกยิ่งขึ้น ส่วนในแม่น้ำชีเอง ได้ลดปริมาณน้ำในแม่น้ำชีด้วยการหน่วงน้ำไว้ทางตอนบนของประตูระบายน้ำต่างๆ รวมทั้งลดการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมแล้ว เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่แม่น้ำชี ก่อนจะไหลลงไปสมทบกับแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลราชธานี ตามลำดับ ทั้งนี้ หากระดับน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลง จะส่งผลให้น้ำในแม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วขึ้นด้วย

***************************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

9 กันยายน 2562