กระทรวงศึกษาธิการแจ้งเตือนเฝ้าระวังโรคไอกรนในสถานศึกษา กำชับโรงเรียนและบ้านเฝ้าระวังเข้มข้น “สุขภาพของนักเรียนต้องมาก่อนเสมอ”

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 กระทรวงศึกษาธิการ/ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศด่วนแจ้งเตือนสถานศึกษาให้เฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคไอกรน ซึ่งขณะนี้พบผู้ป่วยจำนวนมากกว่า 2 รายขึ้นไปในพื้นที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน โดยทางโรงเรียนได้ประกาศปิดสถานศึกษาและย้ายการเรียนการสอนเป็นรูปแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ 2 สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดและดูแลสุขภาพของนักเรียน ครู บุคลากร และผู้เกี่ยวข้องทุกคนให้ปลอดภัย

นายสิริพงศ์ กล่าวว่า การป้องกันโรคระบาดในสถานศึกษา เป็นไปตามนโยบายเรียนดีมีความสุขของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งนอกจากจะมุ่งเน้นให้เยาวชนได้รับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพแล้ว ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับสุขภาพกายและใจของนักเรียนทุกคน โดย พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฝากกำชับว่าสุขภาพของนักเรียนเป็นเรื่องที่เรายึดมั่นมาเสมอว่าสำคัญที่สุด นักเรียนทุกคนคืออนาคตของประเทศและคือความหวังของพ่อแม่ ครู และผู้ปกครอง จึงขอทุกสถานศึกษาเน้นย้ำมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดในสถานศึกษาเพื่อความปลอดภัยสูงสุด นักเรียนทุกคนต้องได้รับการดูแลสุขภาพให้ดีที่สุด ทั้งในด้านร่างกายและจิตใจ

นายสิริพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะประสานงานกับหน่วยงานสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง พร้อมให้การสนับสนุนโรงเรียนในการรับมือและป้องกันการแพร่ระบาดของโรค เพื่อให้ผู้ปกครองมั่นใจว่านักเรียนจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัย และมีสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ปกครองก็ควรหมั่นสังเกตอาการของบุตรหลาน หากมีแนวโน้มจะป่วยเป็นโรคไอกรนควรพาไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ตลอดจนพาบุตรหลานไปรับวัคซีนป้องกันโรคไอกรนตามช่วงอายุให้ครบทุกเข็มด้วย

“โรคไอกรน เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง โดยเชื้อจะสามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยขนาดเล็กจากการไอหรือจาม ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก แต่สามารถแพร่ระบาดในกลุ่มนักเรียนและวัยรุ่นได้ หากไม่มีการป้องกันที่เข้มงวด อาการของโรคคล้ายไข้หวัด เช่น มีไข้ต่ำ น้ำมูกไหล และไอเบา ๆ ซึ่งจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาการไอมักจะรุนแรงเป็นชุดจนผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยหรือหายใจไม่ทัน ดังนั้นหากเด็กติดเชื้อในโรงเรียน ก็มีโอกาสสูงมากที่เชื้อจะแพร่กระจาย จึงขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันดูแล เฝ้าระวังโรคอย่างเข้มงวดที่สุด” นายสิริพงศ์ กล่าว

นอกจากมาตรการป้องกันโรคระบาดแล้ว อยากให้มองให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องมลพิษจากสิ่งแวดล้อมด้วย pm 2.5 ที่ต้องพบเจอกันทุกปี นักเรียนสูดหายใจเข้าไปอาจเจอกับค่าฝุ่นพิษที่สูงเกินมาตรฐานกระทบต่อสุขภาพได้​ หากสถานศึกษาพื้นที่ใดมีความจำเป็นต้องหยุดการเรียนการสอนเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพนักเรียน ขอให้พิจารณาดำเนินการประกาศจัด​การเรียน​การ​สอน​ online onsite on demand ได้ตามความเหมาะสม