สช. ผนึกเมืองพัทยา จ.ชลบุรี จับมือภาคีเครือข่ายในพื้นที่ร่วมให้ความคิดเห็นต่อร่าง “นวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ” ก่อนผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะสู่ ครม. มุ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติภัยทางท้องถนน ที่คร่าชีวิตผู้คนสูงติดอันดับ 9 ของโลก หลังจาก คสช. แต่งตั้งกลไก “คศป.” ขึ้นมาศึกษาแนวทาง-มาตรการแก้ไขระยะยาว
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2567 คณะกรรมการศึกษาแนวทางการส่งเสริมความปลอดภัย ป้องกัน และลดอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างยั่งยืน (คศป.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดการประชุมชี้แจงและรับฟังความคิดเห็นต่อร่างนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุ ครั้งที่ 2/2567 ณ โรงแรมดี วารี จอมเทียน บีช พัทยา อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมีผู้แทนชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มเด็กและเยาวชน ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมกว่า 200 คน เข้าร่วมการประชุม
นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ประธาน คศป. เปิดเผยว่า อุบัติเหตุทางถนนถือเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ที่มีสถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับ 9 ของโลก และสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตมากถึง 1.8 – 2 หมื่นราย ไม่รวมการบาดเจ็บทุพลภาพจากเหตุการณ์เหล่านี้อีกกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เป็นตัวเงินถึงกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้ง คศป. ขึ้นเพื่อเดินหน้าศึกษาแนวทางและหามาตรการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระยะยาวต่อไป
สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ นับเป็นการจัดเวทีครั้งที่ 2 ต่อจากเวที Kick Off ที่ได้มีการจัดไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2567 ที่กรุงเทพมหานคร โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และประธาน คสช. เป็นประธานการประชุม โดยหลังจากนี้ จะมีการเดินหน้ารับความคิดเห็นครั้งต่อไปในพื้นที่ จ.นครราชสีมา จ.เชียงใหม่ และ จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนจะรวบรวมประเด็นต่างๆ กลับมาสรุปผลเพื่อจัดทำ “ร่างนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุฉบับสมบูรณ์” ซึ่งจะเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายสาธารณะที่จะส่งผ่านถึง คสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้เกิดการดำเนินงานของภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้มีการสังเคราะห์แนวทางลดอุบัติเหตุออกมาเป็น 5 ด้าน เพื่อเป็นประเด็นที่นำมารับฟังความคิดเห็น ประกอบด้วย 1. การบังคับการใช้กฎหมาย ระเบียบวินัยจราจร และบทลงโทษ 2. การจัดหางบประมาณในการดูแลซ่อมบำรุงถนน ป้ายจราจร และสัญญาณจราจร ให้ได้มาตรฐาน 3. การส่งเสริมการเรียนการสอนเรื่องการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายระเบียบจราจร การใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย 4. การดูแลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ ผู้ป่วย ผู้พิการหลังเกิดอุบัติเหตุจราจร ฟื้นฟูให้ผู้ประสบเหตุกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ 5. การจัดตั้งองค์กร หรือศูนย์ในการบริหารจัดการการป้องกันการดูแลฟื้นฟูผู้บาดเจ็บ และการใช้นวัตกรรม AI เข้ามาสนับสนุน เพื่อความปลอดภัยอย่างยั่งยืน
น.ส.ฐิติลักษณ์ คำพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบัน จ.ชลบุรี มีประชากรของจังหวัดเองกว่า 1 ล้านคน และประชากรแฝงอีกกว่า 1 ล้านคน ส่งผลให้ท้องถนนหนาแน่น ขณะเดียวกันยังเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทั้งในด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ระบบโลจิสติกส์ การขนส่ง มีรถบรรทุกขนส่งสินค้าขนาดใหญ่วิ่งระหว่างเมือง ตลอดจนการเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จึงทำให้ภาพรวมมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูง
อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงปัจจัยของการเกิดอุบัติเหตุอาจมองได้หลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าถนน สัญญาณไฟ ป้ายบอกทาง ฯลฯ อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือไม่ ในขณะที่อีกส่วนมาจากตัวผู้ขับขี่ ว่าได้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ประพฤติด้วยความไม่ประมาทหรือไม่ รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเอง ว่าได้มีความเคร่งครัดเพียงใด ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ต้องนำมาถอดบทเรียนเพื่อหาสาเหตุร่วมกัน และถือเป็นโอกาสดีที่วันนี้ ได้มีเวทีที่ทุกฝ่ายจะมาให้ความเห็นร่วมกันต่อร่างนวัตกรรมที่จะถูกนำไปดำเนินการต่อไป
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ นายกเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยามีความยินดีที่ได้เป็นพื้นที่ในการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งเมืองพัทยาเองนับเป็นเมืองที่มีกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง จึงเผชิญการเกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะจากรถจักรยานยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ เพราะแม้กลุ่มผู้ประกอบการรถมอเตอร์ไซค์ในพื้นที่จะมีความรู้ความเข้าใจในระดับหนึ่ง แต่ยังมีปัญหาอีกส่วนจากนักท่องเที่ยวเช่าจักรยานยนต์โดยไม่รู้กฎจราจร เหล่านี้นำไปสู่ความจำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาร่วมกันหาแนวทางแก้ไขต่อไป
“พัทยามีกล้องวงจรปิดกว่า 2,000 ตัว และมีการใช้ AI ตรวจสอบตามท้องถนน ซึ่งช่วยลดระดับอุบัติเหตุได้ระดับหนึ่ง แต่การสร้างจิตสำนึกในการปฏิบัติตามกฎหมายและการมีร่างนวัตกรรมลดอุบัติเหตุจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เฉพาะแค่ใน จ.ชลบุรี แต่สามารถขยายผลดำเนินการไปได้ครอบคลุมทั่วประเทศอีกด้วย” นายปรเมศวร์ กล่าว
ด้าน นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า สช. ถือเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนกระบวนการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วมตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งมีกลไกตั้งแต่ในระดับชาติคือ คสช. ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) ตลอดจนกลไกสมัชชาสุขภาพจังหวัด ซึ่งทั้งหมดเอื้อให้เกิดกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะที่ทำให้ภาคประชาชน สามารถนำเสนอเรื่องไปถึง ครม. ได้ ไม่ใช่เพียงการรอคอยนโยบายที่ถูกกำหนดจากบนลงล่างอย่างเดียว เช่นเดียวกับนวัตกรรมการลดอุบัติเหตุนี้ ที่จะมีการผลักดันเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายผ่านกลไกสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นต่อไป
นพ.สุเทพ กล่าวว่า ในส่วนของ จ.ชลบุรี มีอายุคาดเฉลี่ยของประชาชนทั่วไปอยู่ที่ 76 ปี ซึ่งสาเหตุที่จะทำให้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ส่วนหนึ่งคืออุบัติเหตุ แม้สถิติของประเทศไทยจะสามารถทำได้ดีขึ้นจากในอดีตที่เคยอยู่สูงถึงอันดับ 2 ของโลก แต่ก็นับว่ายังไม่อยู่ในสถานการณ์ที่ดี จึงเป็นความสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเข้ามาร่วมกันจัดทำนโยบาย ผลักดันมาตรการต่างๆ บนฐานข้อมูลทางวิชาการ พร้อมขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้ได้จริง เพราะไม่ใช่เพียงแค่ จ.ชลบุรี เท่านั้น แต่ประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของโลก ซึ่งถ้าหากเราสามารถยกระดับความปลอดภัยในเรื่องนี้ขึ้นมาได้ ก็จะส่งผลดีต่อมิติอื่นๆ ไปได้ด้วย