“รองนายก ประเสริฐ” นั่งหัวโต๊ะถก คกก.ทางทะเลแห่งชาติผลักดันมาตรการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง สั่งการ “กรมทะเล” ติดตามเฝ้าระวังวิกฤตพะยูน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ (กทช.) ครั้งที่ 3/2567 โดยมีนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(อทช.) พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 109 อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งนี้มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องร่วมกันพิจารณาจำนวน 4 เรื่อง คือ การเสนอออกกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่เพื่อใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 3 พื้นที่ ในจังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง พ.ศ. …. เนื่องจากบริเวณชายฝั่งทะเลเป็นระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่สำคัญของประเทศไทย จึงต้องรักษาความสมบูรณ์ และอนุรักษ์ชายหาดที่มีความสมดุลไว้ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์สำหรับควบคุมการดำเนินโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งและการใช้ประโยชน์บริเวณชายฝั่งที่ไม่เหมาะสม ในการนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ มอบหมายให้กรม ทช. เร่งเสนอร่างกฎกระทรวงฯ ต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป อีกทั้งได้พิจารณากรณีที่เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยื่นฟ้องคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กรณีการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำที่ทำให้เกิดการทำลายวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมและสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยที่ประชุมมีมติมอบอำนาจให้อธิบดี ทช. เป็นผู้มีอำนาจในการดำเนินการเกี่ยวกับคดีหมายเลขที่ ส.14/2567 แทนคณะกรรมการฯ จนถึงที่สุด

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวต่อว่า วันนี้ ในที่ประชุมได้มอบหมายให้กรม ทช. พัฒนาโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแบบองค์รวม พร้อมทั้งให้ศึกษาแนวทางการฟื้นฟูชายหาดโดยการเติมทราย ซึ่งเป็นรูปแบบที่สอดคล้องกับมาตรการสีเขียว เพื่อการบริหารจัดการชายฝั่งอย่างยั่งยืน พร้อมสั่งการให้กรมฯ เร่งสำรวจศึกษาการประเมินมูลค่าความเสียหายต่อระบบนิเวศด้านสถานการณ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากปัจจุบันหญ้าทะเลเสื่อมโทรมลงมาก ส่งผลให้พะยูนอพยพถิ่นฐานเพื่อหาแหล่งอาหารใหม่ ก่อให้เกิดความเสี่ยงการสูญเสียพะยูน ซึ่งจากการสำรวจประชากรพะยูนในปีงบประมาณ 2567 พบลดลงจาก 280 ตัวในปี 2566 เหลือ 267 ตัว จากสถานการณ์หญ้าทะเลเสื่อมโทรมมากในพื้นที่จังหวัดตรัง ส่งผลให้พะยูนทางฝั่งทะเลอันดามันมีการอพยพจากจังหวัดตรังไปยังพื้นที่ จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดพังงา เบื้องต้นล่าสุดการตายของพะยูนทั้งหมด 10 ตัว ในช่วงวันที่ 1 ต.ค. – 5 พ.ย. ที่ผ่านมา พบการเกยตื้นในจังหวัดสตูล 3 ตัว ภูเก็ต 3 ตัว ตรัง 3 ตัว และกระบี่ 1 ตัว สาเหตุหลักพบว่าเกิดจากอาการป่วย เนื่องจากการขาดอาหาร (หญ้าทะเล) และการติดเครื่องมือประมงโดยที่ผ่านมาตนได้รับรายงานจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าได้สั่งการให้กรม ทช. เร่งสำรวจประชากรพะยูนและแหล่งหญ้า เพื่อนำมาจัดทำแผนการเฝ้าระวังและให้ความคุ้มครอง โดยกรมฯ ได้จัดทำแผนเชิงรุกในการเฝ้าระวังพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูนและการช่วยชีวิตพะยูนเบื้องต้นแก่ชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ จัดเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ให้มีความพร้อมสำหรับการดำเนินการในพื้นที่แหล่งอาศัยและพื้นที่ที่พบการเกยตื้น อีกทั้งเร่งสำรวจประชากรพะยูนและแหล่งหญ้าทะเลตลอดแนวชายฝั่งอันดามัน เตรียมบ่อพักฟื้นในแต่ละพื้นที่และจัดเตรียมหญ้าทะเล ได้มีการใช้แบบจำลองทางสมุทรศาสตร์เพื่อระบุพื้นที่ที่พะยูนตายใช้ในการเฝ้าระวังพื้นที่หญ้าทะเล เพื่อป้องกันการเกยตื้นซ้ำในอนาคต อย่างไรก็ตาม กรมทะเลได้วางมาตรการแผนเร่งด่วนสำหรับพะยูนในช่วงอาหารธรรมชาติวิกฤติ โดยการนำผักที่มีองค์ประกอบทางเคมีใกล้เคียงกับหญ้าทะเล เช่น ผักกวางตุ้ง และสาหร่ายผมนางเพื่อทดแทนหญ้าทะเลในบริเวณแหล่งหญ้าทะเลเดิมที่เสื่อมโทรม จากการทดลองวางแปลงอาหารเสริมให้แก่พะยูนที่หาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต และบริเวณเกาะลิบง จังหวัดตรัง โดยให้อาหารเป็นสาหร่ายผมนาง ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า และผักบุ้ง พบว่าพะยูนได้เข้ามากินอาหารเสริมจนหมดเกลี้ยง พร้อมกันนี้ กรมฯ ได้ศึกษาการใช้เทคนิคเพิ่มมวลชีวภาพของหญ้าทะเลในห้องปฏิบัติการเพื่อเร่งการเติบโตของหญ้าทะเล ทั้งนี้ กรม ทช. มีแผนงานโครงการปลูกเสริมหญ้าทะเล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 24 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดตรังและพังงา โดยที่ผ่านมากรม ทช. ได้ผสานความร่วมมือการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่ง อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก กรณีหากพบเห็นพะยูนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต สามารถแจ้งข่าวสารให้กับกรม ทช. หรือโทรแจ้งสายด่วนพิทักษ์ป่ารักษาทะเล หมายเลข 1362 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อจะได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่เพื่อเข้าช่วยเหลือและนำส่งศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากต่อไป