อพท. ประกาศความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมปักหมุด ปีงบ 2568 เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลกเข้าชิงรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก เพื่อเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น วางเป้าหมาย 20 ชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มุ่งมั่นดำเนินงานตามปรัชญาการทำงานแบบมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ด้วยเป้าหมายก่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ มาตลอด 21 ปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา อพท. ได้ขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 12 หน่วยงาน ได้กว่า 54 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 21.18 จากของโครงการทั้งหมด 255 โครงการ) ซึ่งใช้งบประมาณดำเนินโครงการกว่า 160 ล้านบาท
“ผลงานความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก”
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ในปี 2567 อพท. สามารถผลักดัน 4 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้รับการจัดลำดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top100 Stories 2024 ได้แก่ เวียงภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนประเภท Culture & Tradition จากเรื่องราวประเด็นกลไกการยกระดับงานประเพณีท้องถิ่น “เทศกาลหกเป็ง” สู่เทศกาลที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Destination Management ประเด็นการฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมเมืองโบราณอู่ทอง ด้วยพลังศรัทธาภาคประชาสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Thriving Communities ประเด็นการฟื้นคืนเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิต และเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Thriving Communities ประเด็นเมื่อคูปองอาหารเช้ากลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงคาน
อพท. ยังมีผลสำเร็จจากการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนตามแนวทางของ “เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก” (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก คือ พื้นที่เชียงคาน จังหวัดเลย คว้าเหรียญเงิน แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก จาก Green Destinations เป็นแห่งแรกในอาเซียน และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชีย (จาก 3 ประเทศ) โดยเชียงคานมีความโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management) และตำบลในเวียง จังหวัดน่าน “เมืองเก่าที่มีชีวิต” คว้าเหรียญทอง แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก Green Destinations Award 2024 เหรียญทองแรกของอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย อีกด้วย
นอกจากนี้ อพท. ยังมีผลงานชิ้นสำคัญในการตอกย้ำความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยคว้า 2 รางวัล PATA Gold Awards 2024 จากผลงาน “การต่อยอดแรงบันดาลใจจากมรดกเครื่องสังคโลกโบราณจากรุ่นสู่รุ่น” ของชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สาขารางวัลด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือโดยธรรมชาติ (Heritage Manmade or Natural Cultural Inheritance) และสาขารางวัลด้านวัฒนธรรมการแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ “ชุมชนไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร” ประเภทวัฒนธรรม : การแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ (Culture -Traditional performance and visual arts) ผลงาน “การรื้อฟื้นศิลปะการแสดงและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนไตรตรึงษ์ผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรม”
“ผลักดันมาตรฐานให้องค์กรจัดการการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น”
อพท. ได้ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) รวม 10 องค์กร โดย อพท. ส่งเสริมให้ อปท.ในฐานะองค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management Organizations: DMOs) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน STMS ให้มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งมาตรฐาน STMS ได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) ว่าเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกสำหรับสถานที่ท่องเที่ยว (GSTC-D) ซึ่งปีนี้มีองค์กรที่ผ่านมาตรฐานอยู่ในพื้นที่พิเศษเชียงราย ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและพื้นที่เตรียมการประกาศในจังหวัดนครราชสีมา เช่น เทศบาลตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลวังอ่าง อำเภอ ชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น
ในระดับชุมชน อพท. ได้พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษตามมาตรฐานการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) โดยในปีงบประมาณ 2567 มีชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามเกณฑ์ CBT Thailand) จำนวน 20 ชุมชน และได้รับการผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวม 20 ชุมชน ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษกว่า 112.339 ล้านบาท จาก 45 ชุมชน โดยเมื่อเทียบอัตราการเติบโต (Growth Rate) ของรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับปีงบประมาณ 2566 จำนวน 62.517 ล้านบาท พบว่า มีอัตราการเติบโต (Growth Rate) ของรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.69
อพท. ยังมีผลงานโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา อพท. ได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 2 รางวัล ประเภท สัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effectiveness of People Participation) “ระดับดีเด่น” จากผลงาน “การขับเคลื่อนเมืองเชียงคานสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม “ระดับดี” จากผลงาน “การแก้ไขปัญหาระบบนิเวศ วัดตระพังทอง เพื่อปกป้องโบราณสถานเมืองมรดกโลกสุโขทัย” อีกด้วย
“มุ่งเป้าปี 2568 ขับเคลื่อนการพัฒนาตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งองค์กร”
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2568 อพท. ยังคงมุ่งมั่นและมีเป้าหมายการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยเตรียมพร้อมสานต่อโครงการและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง พัทยา สุโขทัย เลย น่าน และเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากนี้ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เชียงราย และคุ้งบางกะเจ้า เสนอ ท.ท.ช. พิจารณาเห็นชอบ รวมไปถึงการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามเป้าหมาย (Big Rock) เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ อพท. หมู่เกาะช้าง เป็นต้น
ในปี 2568 นี้ อพท. ยังคงเดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรฐานของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก GSTC และผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบสมัครเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destinations TOP 100) ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง รวมไปถึงพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STMS จำนวน 9 แห่ง และพื้นที่ที่มีผลการประเมินสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ (GSTC-D System) ผ่านตามเกณฑ์ จำนวน 6 แห่ง รวมไปถึงร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายผลักดันเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและโดดเด่นสู่การเสนอชื่อเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) อาทิ น่าน และสงขลา และยังคงมุ่งเป้าการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย CBT Thailand เพื่อให้ชุมชนได้รับการพัฒนาตามมาตรฐาน CBT Thailand 20 ชุมชน และได้รับการผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20 ชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ท้ายสุดนี้ อพท. ยังคงยึดมั่นในเจตนารมย์การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์องค์กรในการเป็น “องค์กรแห่งความเป็นเลิศในการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ต่อไป