นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.78 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.72 บาทต่อดอลลาร์
โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ทยอยอ่อนค่าลง ในลักษณะ Sideways Up (กรอบการเคลื่อนไหว 33.64-33.79 บาทต่อดอลลาร์) ตามการทยอยรีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้างของเงินดอลลาร์ หลังจากที่ในช่วงก่อนหน้า เงินดอลลาร์ได้ปรับตัวอ่อนค่าลง ตามการปรับลดโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นอกจากนี้ เงินบาทยังถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงของการพักฐาน (Correction) โดยผู้เล่นในตลาดต่างยังคงต้องการถือทองคำ เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ รวมถึงสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
บรรดาผู้เล่นในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน เพื่อรอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดต่างทยอยขายทำกำไรบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ เพิ่มเติม อาทิ Tesla -2.5%, Alphabet -1.2% ทำให้โดยรวม ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ลดลง -0.33% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.28%
ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลง -0.33% กดดันโดยแรงขายบรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth อาทิ ASML -1.4%, LVMH -0.7% ก่อนที่จะรับรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากการปรับตัวขึ้นของบรรดาหุ้นกลุ่มพลังงาน อาทิ BP +1.0%, Shell +0.6% ตามการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ หลังที่ประชุมกลุ่ม OPEC+ มีมติเลื่อนแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิต
ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงแกว่งตัวแถวโซน 4.30% แม้จะมีจังหวะปรับตัวสูงขึ้นทะลุโซน 4.30% บ้าง แต่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากโซน 4.30% ไปได้ไกล หลังผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาว อีกทั้ง ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ก่อนที่จะปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน อนึ่ง เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับที่มีความน่าสนใจ และมี Risk-Reward ที่คุ้มค่ามากขึ้น ทำให้เราคงแนะนำให้ผู้เล่นในตลาดต่างรอจังหวะบอนด์ยีลด์ ปรับตัวสูงขึ้น เพื่อทยอยเข้าซื้อ (เน้นกลยุทธ์ Buy on Dip)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์รีบาวด์แข็งค่าขึ้นบ้าง หลังจากที่ปรับตัวอ่อนค่าลงในช่วงก่อนหน้า ตามการปรับลดโอกาสที่โดนัลด์ ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งสหรัฐฯ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดบางส่วนต่างยังคงต้องการถือเงินดอลลาร์อยู่ เพื่อรับมือความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่โซน 103.9 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 103.5-103.9 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดัน ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ทว่า ราคาทองคำยังพอได้แรงหนุนอยู่ ตามความต้องการของผู้เล่นในตลาดเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของการเลือกตั้งสหรัฐฯ และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาทองคำ ยังคงทรงตัวแถวโซน 2,740-2,750 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะจับตาการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะรู้ผลการเลือกตั้งอย่างเร็วสุดในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่า การนับคะแนนการเลือกตั้งอาจใช้เวลานานหลายวัน จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งได้ เหมือนกับการเลือกตั้งปี 2020 ในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ นั้นไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนตุลาคม ซึ่งอาจยังคงสูงกว่าระดับ 50 จุด สะท้อนว่าภาคการบริการของสหรัฐฯ (มีสัดส่วนเกิน 70% ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ) ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
ส่วนในฝั่งเอเชีย บรรดานักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ ต่างประเมินว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% จนกว่า RBA จะมั่นใจได้ว่า อัตราเงินเฟ้อจะสามารถชะลอลงต่อเนื่องจนกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย 2%-3%
นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เราประเมินว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว Sideways เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอลุ้นผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งอาจจะรู้ผลการเลือกตั้งได้อย่างเร็วสุด ในช่วงบ่ายของวันพุธที่ 6 พฤศจิกายน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจยังไม่รีบปรับสถานะถือครองสินทรัพย์ที่ชัดเจน จนกว่าจะรู้ผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนในตลาดการเงิน ช่วงทยอยรับรู้รายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการของสหรัฐฯ เนื่องจากสถิติในช่วง 1 ปี ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) อาจแกว่งตัว +/-0.2% ในช่วง 30 นาที หลังตลาดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว โดยอาจต้องระวังความเสี่ยงที่ เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นได้พอสมควร ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หากรายงานดัชนี ISM PMI ภาคการบริการ ออกมาแย่กว่าคาดชัดเจน ทำให้ผู้เล่นในตลาดอาจปรับเพิ่มความคาดหวังการเดินหน้าลดดอกเบี้ยของเฟดได้
ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงในตลาด ลักษณะ Two-Way Volatility ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งสหรัฐฯ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในตะวันออกกลาง รวมถึงการปรับมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางไปมา ทำให้เรายังคงแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาท/ดอลลาร์