กระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าลดปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท ปักหมุด 6 จุดทั่วไทย รณรงค์ “คนไทยห่างไกล NCDs” เริ่มต้นที่ภาคใต้ ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่า และช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและของประเทศ
วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 ที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จ.สงขลา นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายวิทยา จันทน์เสนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดกิจกรรมการขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) โดยมีผู้บริหารทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อสม. ประชาชนทั่วไป ร่วมงานกว่า 2,000 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า คนไทยป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCDs) เช่น เบาหวาน ความดันสูง โรคไตเรื้อรัง เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น กินอาหารหวานจัด เค็มจัด ไม่ออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก มีความเครียดสูง เป็นต้น ทำให้เกิดความสูญเสียต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึงปีละ 1.6 ล้านล้านบาท จากค่ารักษาพยาบาลทางตรงและความสูญเสียทางอ้อม โดยข้อมูลปี 2560 ประเทศไทยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค NCDs สูงกว่า 62,138 ล้านบาท และมีคนไทยต้องเสียชีวิตจากโรค NCDs ปีละกว่า 400,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายแก้ไขปัญหา โดยผลักดันการส่งเสริมสุขภาพและแนวคิดวิถีชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีไปสู่การปฏิบัติ พร้อมทั้งปรับปรุงกฎหมาย มาตรการต่างๆ ให้เอื้อในการต่อสู้กับโรค NCDs สนับสนุนแนวคิดสุขภาพดี สิทธิประโยชน์เพิ่ม รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผ่านศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs เพื่อลดอัตราการป่วยก่อนเข้าสู่ระบบการรักษา
“การขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs ต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากบุคลากรสาธารณสุขและพี่น้อง อสม. ช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการปรับพฤติกรรม ทั้งการกินอาหารให้เหมาะสมกับการใช้พลังงาน ด้วยการนับคาร์บหรือคาร์โบไฮเดรตที่มาจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาล รวมถึงมีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยในผู้ป่วยรายเก่าและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชนและรัฐบาลได้” นายสมศักดิ์กล่าว
ด้านนพ.โอภาสกล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs จะดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1) สร้างระบบบริการด้านสุขภาพ โดย จัดตั้งศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมสร้างครู ก เป็นแกนหลัก เริ่มต้นอำเภอละ 1 ตำบล, จัดตั้ง NCDs Remission Clinic ในโรงพยาบาลทุกระดับ/รพ.สต. ทุกจังหวัด และสร้างทีมผู้นำต้านภัย NCDs ทั้งระดับเขตในทุกจังหวัด ระดับอำเภอๆ ละ 1 ทีม และระดับ รพ.สต. ตำบลละ 1 ทีม 2) ส่งเสริมความร่วมมือสหสาขาวิชาชีพ โดยพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางการแพทย์และร่วมมือกับสหสาขาวิชาชีพในการดำเนินการ NCDs remission Clinic, พัฒนาคู่มือแนวทางการดำเนินงาน / ระบบรายงานข้อมูล และ 3) ให้ความรู้ อสม. เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เชิญชวนกลุ่มเสี่ยงเข้าศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs พร้อมทั้งเป็นพี่เลี้ยงและติดตามผล
โดยกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายคนไทยห่างไกล NCDs จะจัดขึ้น 6 ครั้ง ครอบคลุมทุกภูมิภาค เริ่มครั้งแรกในพื้นที่ภาคใต้ คือ เขตสุขภาพที่ 11 และ 12 รวม 14 จังหวัด ซึ่งสถานการณ์โรค NCDs ในเขตสุขภาพที่ 11 ยังมีอัตราการป่วยตายและผู้ป่วยรายใหม่ โดยเฉพาะโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับเขตสุขภาพที่ 12 ที่พบว่าผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรังรายใหม่ มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2567 มีอัตราผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสูงกว่าระดับประเทศ รวมมูลค่ายาที่ใช้รักษาถึง 707 ล้านบาท สำหรับกิจกรรมภายในงานประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เวทีเสวนาวิชาการ “ก้าวต่อไปเพื่อคนไทยห่างไกล NCDS” และบูธนิทรรศการความรู้เรื่อง NCDs